ในขณะที่ร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ใกล้จะถูกนำมาบังคับใช้เป็นกฎหมายในอีกไม่นานนี้ บรรดานักวิเคราะห์ยังคงมองว่า แม้ร่างกฎหมายฉบับนี้จะช่วยกระตุ้นการลงทุนให้แข็งแกร่งขึ้น แต่อาจไม่เอื้อประโยชน์ให้กับชนชั้นกลาง
ผู้เชี่ยวชาญต่างออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีที่เพิ่งผ่านการรับรองจากวุฒิสภาไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า อาจจะมีผบกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในเกือบทุกภาคส่วน ตั้งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ไปจนถึงภาคครัวเรือน
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา วุฒิสภาสหรัฐมีมติรับรองร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีด้วยคะแนนเสียง 51-49 จากนั้นในวันจันทร์ สภาคองเกรสสหรัฐได้เริ่มขั้นตอนการรวมร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรเป็นร่างเดียวกัน โดยสมาชิกพรรครีพับลิกันในสภาคองเกรสหวังว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์และถูกนำไปวางไว้บนโต๊ะเพื่อให้ประธานาธิบดีลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ก่อนวันคริสต์มาสที่จะถึงนี้
สำหรับความแตกต่างสำคัญระหว่างร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีในฉบับของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรคือ ร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรจะกำหนดให้การปรับลดภาษีมีผลบังคับใช้ทันทีในปีหน้า ในขณะที่ร่างของวุฒิสภาจะชะลอการปรับลดภาษีจนกว่าจะถึงปี 2562
- ไม่เอื้อประโยชน์ต่อชนชั้นกลาง
นักวิเคราะห์ได้ออกมาโจมตีร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับใหม่ของสหรัฐว่าผลประโยชน์จะไปตกอยู่กับกลุ่มบริษัทและบุคคลที่ร่ำรวย ขณะที่ผู้มีรายได้เฉลี่ยทั่วๆไปจะได้รับการลดภาษีเล็กน้อยในช่วงแรกๆ ก่อนจะถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่ปีต่อจากนี้
แดร์เรลล์ เวสต์ นักวิเคราะห์อาวุโสจากสถาบันสถาบันบรู๊กกิงส์ ในวอชิงตัน กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า "ร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับใหม่นี้เอนเอียงไปทางบริษัทที่มั่งคั่งและคนร่ำรวย จึงดูเหมือนไม่ได้ช่วยอะไรชนกลางมากนัก โดยคนทั่วๆไปจะได้รับการลดภาษีลงเล็กน้อยในไม่กี่ปีถัดจากนี้ และหลังจากนั้นก็จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น"
เวสต์กล่าวโดยอ้างถึงค่าจ้างของชาวอเมริกันจำนวนมากในหลากหลายภาคธุรกิจที่ไม่มีการปรับขึ้นมานานกว่าทศวรรษว่า "มันเป็นเรื่องยากที่จะสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม หากค่าจ้างในประเทศยังคงซบเซา"
เขาระบุว่า "การปรับลดภาษีที่มุ่งเน้นไปยังชนชั้นกลางนั้น ควรมองไปที่การสร้างงานและการพัฒนาเศรษฐกิจให้มากกว่านี้"
เวสต์กล่าวต่อไปว่า แม้การลดภาษีนิติบุคคลครั้งนี้จะมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการลงทุน แต่ผู้นำธุรกิจจำนวนมากกลับวางแผนที่จะนำเงินที่ได้มานั้น ไปเพิ่มเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น การปรับลดภาษีในครั้งนี้อาจไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการลงทุนได้ตามที่รัฐบาลคาดหวัง
นอกจากนี้ เวสต์ยังเชื่ออีกว่าร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับนี้อาจเพิ่มปัญหาเกี่ยวกับช่องว่างด้านรายได้ซึ่งสหรัฐต้องเผชิญในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา พร้อมระบุว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวอาจส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลกระทบในด้านลบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว
ด้านแดน มาฮาฟฟี รองประธานอาวุโสและผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายของ Center for the Study of the Presidency and Congress ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรในวอชิงตัน ก็มีความสงสัยถึงผลกระทบที่จะมีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต เนื่องจากเศรษฐกิจในตอนนี้อยู่ในสถานการณ์ที่ดีอยู่แล้ว และการลดภาษีส่วนใหญ่นั้นก็เอื้อประโยชน์ให้กับคนรวยและบริษัท
มาฮาฟฟีกล่าวว่า "โครงสร้างของร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับดังกล่าวจะเป็นอันตรายต่อการลงทุนบางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนที่จำเป็นในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการศึกษาที่ต้องพึ่งพาการลงทุนจากบริษัทต่างๆ"
มาฮาฟฟีมองว่า ทรัมป์ได้ทิ้งโอกาสในการปฏิรูปความร่วมมือระหว่าง 2 พรรคการเมืองใหญ่ในช่วงปีแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทำให้แผนปฏิรูปภาษีดังกล่าวถูกเขียนออกมาอย่างเร่งรีบเพียงเพื่อให้พรรครีพับลิกันทำตามเป้าหมายได้สำเร็จก่อนปี 2561
เขากล่าวว่า แม้ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นเป็นไปอย่างคึกคัก และบริษัทใหญ่ๆเริ่มมีผลประกอบการที่ดี แต่ปัญหาเศรษฐกิจระยะยาวก็ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ที่เมืองใหญ่อย่างนิวยอร์กและวอชิงตันมีงานล้นเหลือและมีค่าจ้างที่สูงลิบ แต่ในพื้นที่ชนบทก็ยังคงมีอัตราว่างงานสูงอยู่
- ร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีอาจทำให้การขาดดุลสูงขึ้นอีก
แม้ผู้เชี่ยวชาญรายอื่นมองว่า ร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับนี้จะช่วยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ, การลงทุน และค่าจ้าง แต่ก็ยังคงแสดงความกังวลว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวอาจจะส่งผลให้สหรัฐมีการขาดดุลเพิ่มขึ้น
อพาร์นา มาเทอร์ นักวิชาการท้องถิ่นจากสถาบัน American Enterprise Institute กล่าวว่า "ฉันคิดว่าการปฏิรูปในส่วนของธุรกิจจะช่วยสนับสุนการเติบโต อีกทั้งยังส่งเสริมให้มีการลงทุนและค่าจ้างเพิ่มขึ้น แต่เรื่องของการขาดดุลก็เป็นสิ่งที่น่าวิตก และอาจจะเป็นตัวขัดขวางปัจจัยบวกที่คาดว่าจะเกิดจากร่างกฎหมายฉบับนี้"
ร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับใหม่ของประธานาธิบดีทรัมป์เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สหรัฐเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราภาษีนิติบุคคลที่สูงที่สุดในโลก โดยสถิติจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ระบุว่า ภาษีเงินได้นิติบุคคลในสหรัฐอยู่ในระดับสูงถึง 39% ซึ่งสูงกว่าประเทศสมาชิกรายอื่นๆของ OECD
บทวิเคราะห์โดย แมททิว รัสลิง
สำนักข่าวซินหัวรายงาน