แม้สหภาพยุโรป (EU) และสหรัฐอเมริกาจะเดินหน้าการเจรจาต่อรองในประเด็นเรื่องการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ที่สหรัฐประกาศขยายเส้นตายการจัดเก็บภาษีออกไปจนถึงวันที่ 1 มิ.ย.เพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าเหล่านี้ แต่บรรดาผู้สังเกตการณ์มองว่า EU ไม่ได้เห็นด้วยกับมาตรการทางเลือกเพื่อยกเว้นการจัดเก็บภาษีโลหะ อีกทั้งยังไม่พอใจต่อการคุกคามจากสหรัฐตลอดระยะเวลาของการเจรจา แม้ว่า การเจรจาต่อรองจะดำเนินไปจนถึงทางตันและความไม่แน่นอนก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป
*ไม่ยอมรับมาตรการจำกัดปริมาณการส่งออก
นายแดเนียล กรอส ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษานโยบายยุโรป (CEPS) ในกรุงบรัสเซลส์ เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า สหรัฐได้เสนอเงื่อนไขให้ EU ยอมรับมาตรการจำกัดปริมาณการส่งออก (VERs) เพื่อแลกกับการยกเว้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมอย่างถาวร แต่ข้อตกลงเช่นนี้ไม่เป็นไปตามหลักการขององค์การการค้าโลก (WTO) แล้ว EU จะยอมทำในสิ่งที่ขัดต่อหลักกฎหมายได้อย่างไร
อย่างไรก็ดี แม้มาตรการดังกล่าวจะเป็นไปด้วยความสมัครใจ แต่มาตรการเหล่านี้ก็จำเป็นต้องทำตามด้วยความจำใจ เช่นเดียวกับในช่วงทศวรรษที่ 1980 ที่กลไกลเช่นนี้เคยถูกนำมาใช้เพื่อคุมเข้มการส่งออกเหล็กและรถยนต์เข้าไปยังสหรัฐ เพราะหากผู้ส่งออกไม่ยอมลดปริมาณการส่งออกไปยังสหรัฐโดยอัตโนมัติ พวกเขาก็จะต้องเผชิญกับอัตราภาษีที่สูงจนน่ากลัว จนกระทั่งที่ประชุมในเวทีเจรจาด้านการค้าขององค์การการค้าโลก (WTO) รอบอุรุกวัยเห็นพ้องให้มีการยกเลิกข้อจำกัดด้านการส่งออกลงจนหมดไปในที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีรายงานออกมาอีกว่า นางเซซิเลีย มาล์มสตรอม กรรมาธิการการค้าของ EU ได้แสดงออกอย่างชัดเจนให้สหรัฐรู้ว่า EU จะไม่ยอมใช้มาตรการ VERs เพื่อแลกกับการยกเว้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียม
กรรมาธิการการค้า EU กล่าวว่า เราคาดว่าจะได้รับการยกเว้นภาษีอย่างถาวร พร้อมกับระบุว่ามาตรการเรียกเก็บภาษีของสหรัฐก่อให้เกิดความไม่แน่นอนกับตลาดและจะส่งผลกระทบต่อการหมุนเวียนทางการค้าทั่วโลก
*ไม่พอใจกับการคุกคามจากสหรัฐ
สหภาพยุโรป (EU) ได้แสดงความไม่พอใจที่สหรัฐใช้ท่าทีคุกคามเพื่อส่งเสริมการเจรจาต่อรอง ด้วยการออกแถลงการณ์หลังจากสหรัฐออกมาประกาศขยายระยะเวลายกเว้นภาษีครั้งล่าสุด โดยระบุว่า EU ยินดีที่จะหารือในประเด็นเรื่องการเข้าถึงตลาดที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย แต่จะไม่เจรจาภายใต้การคุกคามใดๆ
แถลงการณ์ของ EU ระบุว่า "แผนการทำงานในการเจรจาหุ้นส่วนการค้าและการลงทุนข้ามแอตแลนติกในอนาคต จะต้องมีความสมดุลและเอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย"
อย่างไรก็ดี จากรายงานของสื่อมวลชนแสดงให้เห็นว่า ทางฝั่งของสหรัฐก็มีความกระตือรือร้นที่จะบรรลุข้อตกลงการค้ากับ EU ในเรื่องภาษีรถยนต์ โดยนายลอว์เรนซ์ คุดโลว์ ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ ได้ออกมาเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หวังว่า EU จะยอมโอนอ่อนให้กับสหรัฐในเรื่องภาษีรถยนต์ และต้องการให้ EU เพิ่มโควต้านำเข้าเนื้อวัวจากสหรัฐ
ด้านผู้สังเกตการณ์มองว่า แม้ EU จะมีทัศนคติที่เปิดกว้างต่อการเจรจาเรื่องการเข้าถึงตลาดการค้าการลงทุนข้ามแอตแลนติก แต่ก็ยังตระหนักดีถึงพลังอำนาจของสหรัฐในการจัดเก็บภาษีเหล็กและอลูมิเนียม ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้จะส่งผลให้การเจรจาในเรื่องการค้าและการลงทุนข้ามแอตแลนติกไม่สามารถเป็นไปได้ด้วยความเท่าเทียมและจะไม่ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกัน
ขณะที่ผู้นำฝรั่งเศสและเบลเยี่ยมออกมาประกาศว่า EU จะไม่เจรจาข้อตกลงการค้าใดๆ ในขณะที่มีปืนจ่ออยู่ที่ศีรษะ โดยนางมาล์มสตรอม ซึ่งเป็นกรรมาธิการการค้าของ EU ก็ได้ออกมาย้ำถึงจุดยืนดังกล่าวกับทางสหรัฐ พร้อมเตือนว่า EU ต้องมั่นใจว่าจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมแบบถาวรโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ ก่อนจะเดินหน้าเจรจาข้อตกลงหุ้นส่วนการค้าและการลงทุนทรานส์แอตแลนติกต่อไป
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาประกาศเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาว่า สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กในอัตรา 25% และอลูมิเนียม 10% โดยอ้างเหตุผลในเรื่องความมั่นคงของชาติ
สำนักข่าวซินหัวรายงาน