ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตข้อความเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า เขาจะจัดประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์ร่วมกับนายคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ที่สิงคโปร์ ในวันที่ 12 มิ.ย.นี้
"การประชุมร่วมกับนายคิม จอง อึนที่ทุกฝ่ายรอคอยนั้น จะเกิดขึ้นที่สิงคโปร์ ในวันที่ 12 มิ.ย.นี้" ปธน.ทรัมป์กล่าว "เราจะพยายามสร้างช่วงเวลาอันแสนพิเศษนี้ เพื่อนำสันติภาพมาสู่โลก!"
ทางด้านผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐได้ออกมาแสดงความเห็นว่า การเลือกสถานที่และวันเวลาในการประชุมเกิดขึ้นจากการพิจารณาอย่างรอบคอบ
- ทำไมต้องเป็นสิงคโปร์?
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ปธน.ทรัมป์เปิดเผยว่า เขตปลอดทหาร (DMZ) ซึ่งอยู่ที่บริเวณชายแดนเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ จะไม่ใช่สถานที่จัดการประชุมสุดยอดในครั้งนี้ หลังจากวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา ปธน.ทรัมป์เคยกล่าวว่า DMZ และสิงคโปร์อาจเป็นสถานที่จัดการประชุมระหว่างสองฝ่าย ซึ่งในขณะนั้น เป็นที่คาดการณ์กันว่าทำเนียบขาวจะเลือก DMZ เป็นสถานที่จัดการประชุม
หากถามถึงเหตุผลที่สิงคโปร์ได้รับเลือกเป็นสถานที่จัดการประชุมนั้น นายรัจ ชาห์ รักษาการโฆษกทำเนียบขาวให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวในภายหลังว่า สิงคโปร์เป็นชาติที่มีความสัมพันธ์กับทั้งสหรัฐและเกาหลีเหนือ
"สิงคโปร์สามารถสร้างหลักประกันได้ทั้งในแง่ของความปลอดภัยของปธน.ทรัมป์และนายคิม จอง อึน รวมทั้งยังมีความเป็นกลางอีกด้วย" เขากล่าว พร้อมชมเชยว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีประวัติสง่างามมาโดยตลอด
นักวิเคราะห์หลายรายของสหรัฐมองว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นสถานที่จัดประชุมครั้งประวัติศาสตร์นี้ มาจากความเป็นกลางทางการเมือง, ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม
นายทรอย สแทนกาโรน ผู้บริหารอาวุโสของสถาบันเศรษฐกิจเกาหลีซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในกรุงวอชิงตัน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า "แม้ DMZ จะน่าเป็นสถานที่จัดการประชุมสำหรับปธน.ทรัมป์ เนื่องจากสถานที่ดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ที่เขาได้เป็นสักขีพยานในการประชุมระหว่าง 2 เกาหลี แต่สถานที่ดังกล่าวก็อาจซ้ำกับการพบปะกันระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้"
"หากการประชุมจัดขึ้นในเขต DMZ ทางฝั่งเกาหลีเหนือ ผู้คนอาจมองได้ว่าผู้นำสหรัฐยอมเดินทางไปยังเกาหลีเหนือ"
"ด้วยเหตุนี้ สิงคโปร์จึงเป็นสถานที่ที่เป็นกลางสำหรับทั้งสองฝ่าย สถานที่ซึ่งโลกตะวันออกและโลกตะวันตกได้มาบรรจบกัน" เขากล่าว "ก่อนหน้านี้ สหรัฐและเกาหลีเหนือเคยมาจัดประชุมที่นั่นแล้ว อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานยังเหมาะสำหรับเป็นที่การจัดประชุมอีกด้วย นอกจากนี้ ด้วยสายสัมพันธ์ทางการทูตและธุรกิจ สิงคโปร์อาจเป็นประเทศที่เกาหลีเหนือเองก็รู้สึกสบายใจ"
ก่อนหน้านี้ ประเทศในฝั่งยุโรปก็เคยเป็นที่หมายตาอยู่เหมือนกัน แต่นายสแทนกาโรนก็แย้งว่า การประชุมไม่น่าจะจัดขึ้นในยุโรป เนื่องจากนายคิมจะต้องเดินทางไกล
- ปัจจัยใดที่ทำให้การประชุมในครั้งนี้เกิดขึ้นได้?
นักวิเคราะห์มองว่า จีนมีบทบาทสำคัญที่ทำให้การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้น เนื่องจากจีนได้ดำเนินการตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในการสนับสนุนให้ทั้ง 2 ฝ่ายใช้การเจรจาอย่างสันติเพื่อให้คาบสมุทรเกาหลีเป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์
ทั้งนี้ ชาวตะวันตกมองว่า ผลประโยชน์ของทุกฝ่ายคือพื้นฐานสำคัญของการเจรจาครั้งนี้
"ทรัมป์ต้องการให้เกาหลีเหนือยกเลิกการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ส่วนเกาหลีเหนือก็ต้องการการสนับสนุนทางเศรษฐกิจ ขณะที่ผู้นำเกาหลีใต้ก็ต้องการให้ครอบครัวของทั้ง 2 เกาหลีได้พบหน้ากัน" สแทนกาโรนกล่าว "แต่ละประเทศมีผลประโยชน์ที่ตัวเองต้องการแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่ทุกประเทศมีเหมือนกันคือการแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้"
ทั้งนี้ ปธน.ทรัมป์ได้ตอบรับคำเชิญของเกาหลีเหนือในเดือนมี.ค. โดยเกาหลีเหนือก็ได้ตกลงที่จะยุติการใช้ขีปนาวุธและฐานทดสอบนิวเคลียร์เป็นการชั่วคราว รวมถึงไม่มีข้อโต้แย้งต่อปฏิบัติการซ้อมรบร่วมระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม นายสแทนกาโรนมองว่า การที่ปธน.ทรัมป์ตั้งใจที่จะทำอะไรให้แตกต่างออกไปนั้น มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้การประชุมนี้เกิดขึ้น นอกจากนี้ ทางเกาหลีเหนือเองก็ต้องการพบผู้นำของสหรัฐมาโดยตลอด
"เป็นเรื่องยากมากที่จะมีประธานาธิบดีคนใดของสหรัฐ ที่แสดงความต้องการว่าจะพบปะกับผู้นำเกาหลีเหนือ" สแทนกาโรนกล่าว
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์กล่าวว่า "เป้าหมายของสหรัฐคือการยุติการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ส่วนเกาหลีเหนือก็คงจะหนีไม่พ้นการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร ท้ายที่สุด ทั้งสองประเทศคงมีการแต่งตั้งทูตคนใหม่"
- ความท้าทายที่รออยู่เบื้องหน้า
แม้การประชุมจะมีการกำหนดวัน เวลา และสถานที่เรียบร้อยแล้ว แต่นักวิเคราะห์ยังคงมองว่ายังมีความท้าทายครั้งใหญ่รออยู่เบื้องหน้า กว่าที่ทุกฝ่ายจะสามารถบรรลุข้อตกลงเขตปลอดนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลีได้
นายชาห์เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวของซินหัวว่า จุดมุ่งหมายในการประชุมครั้งนี้ของสหรัฐ คือการสร้างหลักประกันว่า คาบสมุทรเกาหลีจะปลอดการใช้อาวุธนิวเคลียร์อย่างถาวร
ขณะที่นายสแทนกาโรนกล่าวว่า เป้าหมายหลักของประชุมจะอยู่ที่การโน้มน้าวให้เกาหลีเหนือยกเลิกการใช้อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง, การสร้างความสัมพันธ์กับประชาคมโลก และการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือ
"พวกเขาจะต้องเผชิญกับความท้าทายอีกมากมาย" เขากล่าว "เนื่องจากสหรัฐและเกาหลีเหนือยังไม่ได้ให้นิยามของคำว่าเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์อย่างแน่ชัด รวมถึงข้อตกลงต่างๆที่จะไม่ทำให้เกิดข้อพิพาทขึ้นอีกในอนาคต"
นอกจากนี้ การสร้างเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์และการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย เนื่องจากทางเกาหลีเหนือก็ต้องการสร้างผลประโยชน์ให้ตนเองอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขณะที่สหรัฐต้องการที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงก่อนที่จะยอมยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร
- การประชุมครั้งนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่?
นายสแทนกาโรนกล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า "ทั้งสองฝ่ายมีปัจจัยกระตุ้นให้การประชุมครั้งนี้บรรลุผลสำเร็จ"
"ผมคิดว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะสามารถบรรลุข้อตกลงในเบื้องต้น แต่อาจต้องใช้เวลาหลายปีกล่าวที่เราจะรู้ว่าการประชุมครั้งนี้บรรลุผลสำเร็จจริงๆ" สแทนกาโรนกล่าว พร้อมระบุว่า ฝั่งตะวันตกเองยังคงมองว่า การประชุมครั้งนี้มีแนวโน้มประสบความสำเร็จ หากแต่ละฝ่ายยอมอ่อนข้อให้กัน
"เราจะได้รู้กันว่าเกาหลีเหนือสามารถดิ้นหลุดจากเบ็ดได้หรือไม่ หรือเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริงๆ หากเป็นอย่างแรกก็สถานการณ์ก็คงออกมาในด้านลบ แต่หากเป็นอย่าง ก็ถือเป็นความคืบหน้าที่สำคัญมาก" สแทนกาโรนกล่าว