เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา กรมประชาสัมพันธ์แห่งคณะกรรมาธิการมณฑลอันฮุย สังกัดพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) สำนักงานสารสนเทศแห่งมณฑลอันฮุย และศูนย์อาเซียน-จีน (ACC) ได้เชิญชวนสื่อมวลชนจาก 10 ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน เดินทางเยือนเมืองต่าง ๆ ในมณฑลอันฮุย เพื่อรายงานความก้าวหน้าของมณฑลอันฮุยในฐานะอุตสาหกรรมการผลิตแห่งใหม่ของจีน
สื่อมวลชนที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้มีจำนวนรวมกันเกือบ 40 ราย จากประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ บรูไน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา เมียนมา นอกจากนี้ยังได้เชิญสื่อจีนร่วมรายงานข่าวเกี่ยวกับกิจกรรมครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสถานีวิทยุซีอาร์ไอ (CRI) ไชน่าเดลี เอเชียแปซิฟิกเดลี และวิชวลไชน่า
สำหรับเมืองต่าง ๆ ในมณฑลอันฮุยที่สื่อของอาเซียนได้เดินทางเยือนนั้น ประกอบด้วยเมืองเหอเฝย เมืองเอกของมณฑลอันฮุย จากนั้นเดินทางไปยังเมืองลิ่วอัน (Lu’an) ทางทิศตะวันตก และเดินทางขึ้นเหนือไปยังเมืองหวายหนาน (Huainan) ป้างปู้ (Bengbu) สู้โจว (Suzhou) และสุดที่เมืองหวายเป่ย (Huaibei) ซึ่งทั้งหมดเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่มียุทธศาสตร์การพัฒนาที่แตกต่างกันไปตามจุดแข็งของแต่ละเมือง
มณฑลอันฮุยได้มีการกำหนดและใช้แนวคิดการพัฒนาแบบใหม่ เพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมที่จะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็วางรากฐานที่แข็งแกร่งเพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ การค้า และวัฒนธรรม เช่นเดียวกับความร่วมมือที่จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างมณฑลอันฮุยกับอาเซียน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ที่ต้องการสร้างประเทศจีนให้เป็นประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัยและยิ่งใหญ่ ซึ่งจะต้องมีความมั่งคั่ง แข็งแกร่ง เป็นประชาธิปไตย มีความก้าวหน้าทางวัฒนธรรม เป็นหนึ่งเดียว และสวยงามภายในช่วงกลางศตวรรษนี้
เจิ้ง หมิงอู่ ผู้อำนวยการสำนักงานสารสนเทศแห่งมณฑลอันฮุย ได้กล่าวในพิธีเปิดงานที่มีสื่อมวลชนจีน-อาเซียน และเจ้าหน้าที่จากมณฑลเข้าร่วมว่า จีนและอาเซียนได้สานความร่วมมือทางกลยุทธ์มาเป็นเวลาถึง 15 ปีแล้วในปีนี้ ขณะที่มณฑลอันฮุยเองก็ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับอาเซียน โดยนับจนถึงเดือนเม.ย.ของปีนี้ มณฑลอันฮุยได้จัดตั้งบริษัทในประเทศแถบอาเซียนเป็นจำนวนรวมกันเกือบ 100 แห่ง วงเงินรวมกันกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ มูลค่าการนำเข้าและส่งออกระหว่างมณฑลอันฮุยกับอาเซียนนั้น มากถึง 5.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้น 17.7% เมื่อเทียบรายปี และในปีนี้ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยมูลค่านำเข้า-ส่งออกรอบ 4 เดือนแรกของปีนี้ที่ 2.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนในฝั่งของอาเซียนนั้นมีการลงทุนในมณฑลอันฮุยเป็นวงเงินราว 720 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 เพิ่มขึ้น 7.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีนักท่องเที่ยวชาวอาเซียนเดินทางไปมณฑลอันฮุยประมาณ 431,000 ราย เพิ่มขึ้น 23.89%
คุณวิทิต เภาวัฒนาสุข ผู้อำนวยการฝ่ายสารสนเทศและประชาสัมพันธ์แห่งศูนย์อาเซียน-จีน ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าภาพของกิจกรรมนี้ ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนในภาพรวมว่า จีนกับอาเซียนต่างมีความใกล้ชิดกันทั้งในแง่ของภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม ส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายมีการร่วมมือในทุกมิติ หลากหลายระดับขั้น และครอบคลุมหลายภาคส่วน เมื่อปี 2560 มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนอยู่ที่ 5.148 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มูลค่าการลงทุนโดยตรงอยู่ที่ราว 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจีนเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอาเซียนมาเป็นเวลาติดต่อกันถึง 9 ปีแล้ว ขณะที่อาเซียนเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของจีนมาเป็นเวลา 7 ปีติดต่อกัน พร้อมแสดงความคาดหวังว่า กิจกรรมเดินทางเยือนเมืองต่าง ๆ ของมณฑลอันฮุยในปีนี้ จะเปิดโอกาสให้ชาวอาเซียนรู้จักจีนในแง่มุมใหม่ ๆ มากขึ้น
ทั้งนี้ มณฑลอันฮุยตั้งอยู่ทางตะวันออกของประเทศจีน โดยมีประชากรประมาณ 70 ล้านคน และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อยู่ที่อันดับ 12 จากทั้งหมด 31 มณฑลในปี 2560 ทรัพยากรธรรมชาติที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของมณฑลอันฮุย คือ ถ่านหิน และมีโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินสะอาดที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย เพื่อการใช้ถ่านหินให้เกิดประโยชน์สูงสุดตั้งอยู่ในมณฑลนี้อีกด้วย มณฑลอันฮุยมีบริษัทชั้นแนวหน้าระดับประเทศและระดับโลกเข้ามาตั้งฐานการผลิตมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทกลุ่มยานยนต์ รถสำหรับงานอุตสาหกรรม บรรจุภัณฑ์ เภสัชภัณฑ์ ยาแผนจีน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับสมาร์ทโฟน ไปจนถึงแผงโซลาร์เซลล์ และชิ้นส่วนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ของผู้ให้บริการโทรคมนาคมชั้นแนวหน้าอย่างไชน่า โมบาย ที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่ใช้งานอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น อาลีบาบา เจดีดอทคอม เทนเซ็นต์ มีศูนย์บิ๊กดาต้าพร้อมเทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลอันทันสมัยเพื่อรองรับการใช้งานหลายประเภท เช่น สอดส่องดูแลความปลอดภัยและดูแลการจราจร ขณะเดียวกันยังมีศูนย์บริการคลาวด์ของหัวเว่ย และบริษัทผู้ผลิตเกมแนวความเป็นจริงเสมือน (VR)