เป็นเวลากว่าหนึ่งเดือนแล้วที่พรรคปากาตัน ฮาราปัน ของนายกรัฐมนตรีมหาธีร์ โมฮัมหมัด ได้ก้าวขึ้นมามีอำนาจในมาเลเซีย แต่ถึงแม้รัฐบาลใหม่จะกำหนดมาตรการต่างๆเพื่อแก้ไขเศรษฐกิจของประเทศ แต่ภารกิจดังกล่าวอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เนื่องจากรัฐบาลต้องสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและงบประมาณด้านการคลัง
ตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลของนายมหาธีร์ได้ประกาศนโยบายใหม่ๆมากมาย อาทิ การยกเลิกการจัดเก็บอัตราภาษีสินค้าและบริการ (GST) การทบทวนงบประมาณด้านเชื้อเพลิง รวมถึงการทบทวนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่สำคัญต่างๆ
อย่างไรก็ตาม มาตรการข้างต้นได้สร้างความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาพรวมทางเศรษฐกิจในระยะสั้น แม้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆจะไม่ได้ปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อมาเลเซีย แต่สถาบันวิจัยต่างชาติหลายแห่งก็ได้มีการปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซียลงในปีนี้
สถาบันวิจัยเอเอ็นแซท รีเสิร์ชระบุว่า รัฐบาลชุดใหม่ของมาเลเซียได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และการเงินของประเทศ
ทั้งนี้ ทางสถาบันคาดการณ์ว่า การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของมาเลเซียจะชะลอตัวลงแตะระดับ 5.4% ในปีนี้ จากระดับ 5.9% ในปี 2560 อันเป็นผลมาจากการขยายตัวที่อ่อนแอของเศรษฐกิจในไตรมาส 1 พร้อมกับคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในไตรมาส 2 จะอ่อนตัวลงมากกว่าที่ประเมินไว้ในเบื้องต้น
รายงานของเอเอ็นแซท รีเสิร์ชยังระบุด้วยว่า เศรษฐกิจรายไตรมาสของมาเลเซียค่อนข้างมีความผันผวน ซึ่งเป็นผลมาจากการยกเลิกการจัดเก็บอัตราภาษี GST นอกจากนี้ ทางสถาบันยังได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ของปีหน้าลงแตะ 5.2% จากระดับเดิมที่ 5.5% ซึ่งเป็นผลมาจากการคาดการณ์ที่ว่า การอุปโภคบริโภคและการลงทุนจะชะลอตัวลง รวมถึงการส่งออกที่ขยายตัวปานกลาง
"อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซียยังคงถือว่าแข็งแกร่ง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจในระยะสั้น" รายงานของเอเอ็นแซท รีเสิร์ชระบุ
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เศรษฐกิจของมาเลเซียขยายตัวที่ระดับ 5.9%ในปี 2560 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่รวดเร็วสุดในรอบ 3 ปี ส่วนในไตรมาสแรกปีนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอลงมาอยู่ที่ระดับ 5.4% ซึ่งต่ำกว่าระดับคาดการณ์ของธนาคารกลางมาเลเซียที่ระบุว่า เศรษฐกิจของประเทศจะขยายตัวราว 5.5-6% ในปีนี้