แม้มาตรการปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจบางภาคส่วนที่รัฐบาลของนายมหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานะทางการคลังของประเทศ แต่นักวิเคราะห์มองว่า เศรษฐกิจของมาเลเซียยังคงสดใสในช่วงการปฏิรูปตลอดระยะเวลา 100 วันที่ผ่านมา
สำหรับมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจของมาเลเซียนั้น รวมถึงการยกเลิกการจัดเก็บอัตราภาษีสินค้าและบริการ (GST) และการนำนโยบายอุดหนุนด้านเชื้อเพลิงกลับมาใช้อีกครั้ง โดยนักวิเคราะห์จากธนาคารฮองเหลิง อินเวสเมนต์ แบงก์ ระบุว่า "ภาพรวมเศรษฐกิจในระยะยาวของมาเลเซียมีแนวโน้มที่เป็นบวก หลังจากมีการยกเลิกการใช้ทรัพยากรที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลชุดก่อน ซึ่งส่งผลให้ภาพรวมด้านการบริหารประเทศเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น"
ชัยชนะของพรรคปากาตัน ฮาราปันในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 เมื่อเดือนที่ผ่านมาได้สร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุนในตลาด อีกทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการเทขายหุ้นและพันธบัตรในหมู่นักลงทุนชาวต่างชาติอีกด้วย
นอกจากนี้ ปัจจัยอื่นๆ อาทิ หนี้สินของรัฐบาลซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 7 ล้านล้านริงกิต (ประมาณ 2.476 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ), ข่าวฉาวเกี่ยวกับคดีทุจริตในกองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติมาเลเซีย (1MDB), ภาคการก่อสร้างที่ชะลอตัวลงหลังจากที่รัฐบาลใหม่ได้ทบทวนโครงการเมกะโปรเจคต่างๆ และรายได้ที่ลดลงหลังจากที่มีการยกเลิกการเก็บภาษี GST นั้น ก็สร้างความวิตกกังวลให้กับตลาดอยู่ไม่น้อย
แม้การยกเลิกภาษี GST จะทำให้สูญเสียรายได้ไปถึง 2.1 หมื่นล้านริงกิต แต่รัฐบาลมาเลเซียก็ได้ประกาศมาตรการใหม่ที่คาดว่าจะสามารถประหยัดเงินไปได้ถึง 1 หมื่นล้านริงกิต
อัฟฟิน ฮวาง แคปิตอล รีเสิร์ช ระบุว่า "เรามองว่ารัฐบาลกำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาด้านการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ มากกว่าเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ เราเชื่อมั่นว่าจะมีการจัดการด้านการปฏิรูปกฎระเบียบอย่างเหมาะสม ซึ่งจะทำให้มาเลเซียกลับมายืนหยัดอย่างมั่นคงอีกครั้ง"
ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (S&P) ประกาศคงอันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศของมาเลเซียที่ A-/A-2 และคงอันดับเครดิตสกุลเงินริงกิตที่ A/A-1 พร้อมกับให้แนวโน้วมีเสถียรภาพ
ขณะที่มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส คงระดับคาดการณ์สัดส่วนหนี้สินของรัฐบาลมาเลเซียเอาไว้ที่ระดับ 50.8% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งเป็นระดับเดียวกับในปี 2560 แม้นโยบายบางด้านของรัฐบาลชุดใหม่ยังคงไม่แน่นอนก็ตาม
มูดี้ส์เปิดเผยในรายงานว่า การประเมินความเสี่ยงด้านหนี้สินของสถาบันนอกภาคการเงินของมาเลเซียนั้น ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง หลังจากที่รัฐบาลชุดใหม่ของมาเลเซียได้แถลงนโยบายในช่วงก่อนหน้านี้
มูดี้ส์ยังระบุด้วยว่า จากการตรวจสอบผลกระทบของนโยบายใหม่ที่มีต่อประวัติความน่าเชื่อถือของมาเลเซียนั้น พบว่า มาตรการด้านการคลังถือเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ เมื่อพิจารณาจากภาระหนี้สินที่อยู่ในระดับสูงของประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ
ส่วนกรณีที่รัฐบาลมาเลเซียยกเลิกการจัดเก็บอัตราภาษีสินค้าและบริการ (GST) นั้น มูดี้ส์ยังคงมีมุมมองที่ว่า การที่รัฐบาลยังไม่ได้ออกมาตรการด้านการคลังที่มีประสิทธิภาพเข้ามาทดแทน ก็อาจส่งผลกระทบในด้านลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ เนื่องจากการยกเลิกภาษี GST จะทำให้รัฐบาลมาเลเซียต้องหันไปเพิ่มการพึ่งพารายได้ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน และอาจทำให้ฐานภาษีแคบลงด้วย
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า มูดี้ส์คาดว่า รัฐบาลมาเลเซียจะสูญเสียรายได้จากการยกเลิกภาษี GST ประมาณ 1.1% ของตัวเลข GDP ในปีนี้