ชาวอิตาลีจำนวนมากใช้เวลาในวันอังคารที่ผ่านมาไปกับการฟื้นตัว ภายหลังค่ำคืนแห่งการเฉลิมฉลองต้อนรับปีใหม่ แต่บางอย่างที่หลายคนไม่รู้ คือ เมื่อวานนี้เป็นวันเดียวกันกับการฉลองครบรอบ 20 ปีของการใช้สกุลเงินยูโร ซึ่งได้สร้างความย่ำแย่ให้กับเศรษฐกิจของอิตาลี
สถิติจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) เปิดเผยว่า จากสมาชิกที่ร่วมก่อตั้งยูโรโซน 11 ประเทศ มีเพียงอิตาลีกับสเปนเท่านั้น ที่เผชิญภาวะเศรษฐกิจหดตัวนับตั้งแต่เริ่มใช้สกุลเงินยูโร เมื่อรวมทั้งหมดแล้ว ในปีนี้อิตาลีกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าสหภาพยุโรป (EU) ทั้งหมดเป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน และเป็นครั้งที่ 18 จากระยะเวลา 20 ปี
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลสำรวจความคิดเห็รจะชี้ให้เห็นว่า สกุลเงินยูโรจะได้รับการสนับสนุนในอิตาลีน้อยกว่าในอีก 19 ประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโรอยู่ ขณะที่สกุลเงินลีรา ซึ่งเป็นสกุลเงินดั้งเดิมของอิตาลีตั้งแต่ปี 2404 จนกระทั่งวันที่เริ่มใช้สกุลเงินยูโรนั้น เป็นสกุลเงินที่กำลังกลับมา
แต่นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญกล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า ภาวะตกต่ำของเศรษฐกิจอิตาลีนั้นเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการใช้สกุลเงินยูโร แม้ว่า สกุลเงินยูโรมีแนวโน้มว่า จะมีส่วนทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอลง
ฟรานเซสโก เกียวาซซิ นักเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัย มิลาน บอคโคนี ยูนิเวอร์ซิตี้กล่าวว่า "ในแง่ของความสามารถในการผลิตนั้น เศรษฐกิจของอิตาลีเริ่มตกต่ำกว่าเศรษฐกิจของประเทศยุโรปส่วนใหญ่ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษที่ 90"
"เศรษฐกิจของอิตาลีมีธุรกิจขนาดเล็กมากกว่าเยอรมนีถึง 3 เท่า แม้ว่าเยอรมนีจะมีเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่า" นายเกียวาซซิกล่าวต่อไปว่า "เมื่อโลกเริ่มมีการแข่งขันกันมากขึ้น บริษัทเล็กๆ ก็จะเผชิญกับความยากลำบากมากยิ่งขึ้นในการปรับตัว"
ลอเรนโซ โคโดนโญ่ ผู้ก่อตั้งและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ แอลซี มาโคร อินเวสเตอร์กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า การเริ่มใช้สกุลเงินยูโรทำให้การปกปิดข้อบกพร่องของระบบเศรษฐกิจนั้นเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้น โดยก่อนหน้าที่จะใช้สกุลเงินยูโรนั้น รัฐบาลอาจช่วยให้ภาคการส่งออกยังสามารถแข่งขันได้ด้วยการปรับลดค่าเงินลงเป็นระยะ แต่ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้กับสกุลเงินยูโร
"การลดค่าเงินนั้นเป็นเหมือนการใช้ยาแรง" นายโคโดนโญ่กล่าว "ทีแรกมันทำให้ทุกสิ่งดีขึ้น แต่แล้วมันก็เลวร้ายอย่างมาก"
เมื่อช่วงต้นเดือนธ.ค. นายมาริโอ ดรากี นักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาลีและประธาน ECB กล่าวชื่นชมสกุลเงินยูโรในงานที่จัดขึ้นที่เมืองปิซาของอิตาลี โดยกล่าวว่า สกุลเงินยูโรนั้นเป็นการตอบสนองที่ยอดเยี่ยมต่อศตวรรษที่กำลังเสียหายด้วยระบบเผด็จการ สงคราม และความทุกข์ยาก แต่นายดรากียังยอมรับว่าบางประเทศ เช่น อิตาลี ได้รับประโยชน์จากสกุลเงินยูโรไม่มาก
แม้ว่าสกุลเงินร่วมจะไม่ถูกบังคับใช้ตามกฎหมายจนกระทั่งปี 2545 แต่ก็ได้เริ่มมีใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2542 เมื่อ 11 ประเทศผู้ใช้ดั้งเดิมกำหนดอัตราการแลกเปลี่ยนสกุลเงินของตัวเองกับยูโร และเมื่อปี 2544 กรีซได้เข้าร่วมกลุ่มยูโรโซน นั่นหมายถึงสกุลเงินยูโรได้ใช้ใน 12 ประเทศในปีต่อมา
แต่เกียวาซซิกับโคโดนโญ่กล่าวว่า สกุลเงินยูโรก็มีข้อดีบางประการกับอิตาลี โดยอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลลดลงอย่างมากนับแต่ความเสี่ยงของสกุลเงินถูกนำออกจากสมการ สกุลเงินร่วมยังได้ทำให้การค้ากับพันธมิตรต่างประเทศเป็นไปโดยง่ายขึ้น และช่วยให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนและแรงงานเป็นไปโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ทั้งคู่ต่างเห็นพ้องกันว่าผลกระทบโดยรวมที่มีต่ออิตาลีนั้นน่าจะเป็นไปในทางลบ
ฟิดีลี เด โนเวลลิส หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์มหภาคของอาร์อีเอฟ รีเซิร์ช กล่าวว่า อิตาลีอาจได้ผลประโยชน์จากสกุลเงินยูโรมากขึ้นถ้ามีการปฏิรูปโครงสร้างให้ถูกต้องเพื่อนำไปสู่การใช้สกุลเงินใหม่
"ที่ผ่านมา เคยมีความต้องการทางการเมืองมากมายที่จะทำการปฏิรูปเพื่อที่จะช่วยให้อิตาลีเข้าร่วมใช้สกุลเงินยูโร" เด โนเวลลิส ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัว พร้อมเสริมว่า "แต่มีไม่มากพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเศรษฐกิจสำหรับการแข่งขันในระดับใหม่"
โคโดนโญ่ คาดการณ์ว่า แนวโน้มที่ย่ำแย่ของอิตาลีจะดำเนินต่อไป โดยผู้นำทางการเมืองรวมถึงรัฐบาลของนายจูเซปเป คอนเต นายกรัฐมนตรีอิตาลี ยังคงหลีกเลี่ยงจากขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของเศรษฐกิจ
"รัฐบาลแล้วรัฐบาลเล่าของอิตาลีได้ทำการปรับแก้ระยะสั้นแทนที่จะปฏิรูปอย่างเป็นระบบ" นายโคโดนโญ่กล่าว "รัฐบาลปัจจุบันถึงขนาดยกเลิกการปฏิรูปที่มีประโยชน์บางอย่างของรัฐบาลชุดเก่าเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง"