ผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐมองว่า การเดินทางเยือนตะวันออกกลางระยะเวลา 8 วันของนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐในสัปดาห์นี้นั้น แทบจะไม่สามารถกอบกู้ความเชื่อมั่นที่มีต่อภูมิภาคดังกล่าวในสหรัฐได้
การเดินทางครั้งนี้ ประกอบด้วยจุดหมายปลายทางอย่างจอร์แดน อียิปต์ บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิรัก ซาอุดิอาระเบีย โอมาน และกาตาร์ โดยนายปอมเปโอไม่ได้เดินทางเยือนคูเวต ด้วยเหตุผลส่วนตัว
ในระหว่างทริป ปอมเปโอได้เน้นย้ำถึงเรื่องการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน รวมทั้งความพยายามในการตอกย้ำถึงการประจำการของสหรัฐในภูมิภาค แม้ว่า สหรัฐวางแผนที่จะถอนกองทัพออกจากซีเรียก็ตาม นอกจากนี้ นายปอมเปโอยังได้พยายามที่จะผนึกประเทศอาหรับที่ถูกปกคลุมไปด้วยความขัดแย้งภายในให้เป็นหนึ่งเดียว
เดวิด พอลล็อค นักวิชาการอาวุโสของสถาบัน Washington Institute for Near East Policy กล่าวกับซินหัวว่า เป็นเรื่องยากที่จะได้มาซึ่งความคืบหน้าในประเด็นที่นายไมค์ได้เน้นย้ำ อย่างไรก็ดี เครดิตที่นายปอมเปโอได้จากความเคลื่อนไหวครั้งนี้ก็คือความพยายามในการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเหล่านี้ให้ใกล้ชิดกับสหรัฐมากยิ่งขึ้น
ทางด้านดาร์เรล เวสท์ นักวิชาการอาวุโสของสถาบันบรู๊กกิ้งส์ กล่าวว่า ทูตระดับสูงของสหรัฐแค่นำนโยบาย American First มาในตะวันออกกลางเท่านั้น ในขณะที่ปอมเปโอมีความชัดเจนว่า อิหร่านจะยังคงเป็นประเด็นสำคัญต่อคณะทำงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์นั้น มีสัญญาณเพียงเล็กน้อยที่ชี้ให้เห็นว่า ประเทศต่างๆในภูมิภาคมีความพร้อมที่จะยืนเคียงข้างสหรัฐ
เวสท์ กล่าวว่า ตะวันออกกลางมีความขัดแย้งกันมากมาย ทั้งในเรื่องผลประโยชน์และวาระในประเทศซึ่งยากที่จะจัดระเบียบ ประธานาธิบดีเองก็ยังไม่สามารถรวมประเทศที่เกี่ยวข้องให้เป็นหนึ่งเดียวเพื่อที่จะต้านทานอิหร่านได้
เหล่าผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งข้อกังขาถึงประสิทธิผลจากการเดินทางเยือนตะวันออกกลางของปอมเปโอว่าจะสามารถปลอบประโลมประเทศเหล่าประเทศพันธมิตรได้ หลังจากที่สหรัฐได้ตัดสินใจถอนกองทัพออกจากซีเรีย
เวย์น ไวท์ อดีตรองผู้อำนวยการของสำนักงานข่าวกรองตะวันออกกลางของกระทรวงต่างประเทศ กล่าวว่า นับเป็นเรื่องที่ลำบากที่จะกล่าวว่า ปอมเปโอสามารถบรรลุเป้าหมายได้แล้วทั้งในเรื่องการยืนยันถึงการพึ่งสหรัฐภายหลังการถอนกองทัพออกจากซีเรียแล้ว ประเทศเหล่านี้รับฟังและถามคำถามเพียงไม่กี่คำถาม แต่อาจจะยังไม่เชื่อใจในทำเนียบว่าจะเชื่อถือได้หรือไม่เมื่อถึงเวลาที่ภายในประเทศต้องเผชิญกับความยากลำบาก
ดาเลีย ดัสซา เคย์ ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายสาธารณะตะวันออกกลางของบริษัท RAND เห็นด้วยกับไวท์ที่ว่า เมื่อพิจารณาเรื่องความสับสนของทิศทางนโยบายสหรัฐและช่องว่างของการใช้โวหารและการกระทำแล้ว ถือว่าการฟื้นความเชื่อมั่นที่มีต่อผู้นำสหรัฐซึ่งนายปอมเปโอได้ดำเนินการไปนั้น ยังไม่ชัดเจนว่า ประสบความสำเร็จหรือไม่
ในขณะเดียวกัน การถอนกองทัพนั้น ถูกตีความว่าเป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่า สหรัฐไม่ได้ให้ความสนใจกับภูมิภาคดังกล่าว
พอลล็อค กล่าวว่า มีความไม่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า สหรัฐได้เปลี่ยนเป้าหมายของประเทศไปจากตะวันออกกลางแล้วหรือไม่เมื่อพิจารณาแนวโน้มจากความคิดเห็นของชาวสหรัฐและสภาคองเกรส
พอลล็อค ยังกล่าวด้วยว่า การพึ่งพาพลังงานของสหรัฐจากตะวันออกกลางนั้นลดลง นอกจากนี้ ยังมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับอำนาจของประเทศคู่แข่งที่อยู่นอกตะวันออกกลาง
ไวท์ กล่าวว่า แนวโน้มของทำเนียบขาวภายใต้การนำของทรัมป์ที่มีต่อความเคลื่อนไหวในตะวันออกกลาง เช่น การถอนกองทัพออกจากซีเรียนั้น ถือเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ว่า สถานการณ์ในภูมิภาคจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในปี 2563
สำนักข่าวซินหัวรายงาน