บรรดานักวิเคราะห์มองว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จะจับตาประเด็นการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) อย่างใกล้ชิด ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) ประกาศเมื่อวานนี้ว่า จะปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับเดิมต่อไป
ด้านนักเศรษฐศาสตร์คาดว่า จะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และเหตุผลของการไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ไม่ใช่เพราะว่า เศรษฐกิจไม่สามารถรองรับการปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่เป็นเพราะ BoE ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ Brexit
โทมัส พิวจ์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษจากแคปิตอล อีโคโนมิกส์ เปิดเผยกับซินหัวว่า "ผมไม่คิดว่า คณะกรรมการฯจะตัดสินใจใดๆ จนกว่าเรื่อง Brexit จะได้รับการแก้ไข"
"จากการคาดการณ์โดยทั่วไปนั้น คณะกรรมการฯจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ต่อเมื่อปัญหาเรื่อง Brexit คลี่คลายลง" นายพิวจ์กล่าว
ความไม่แน่นอนของ Brexit กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น ขณะที่วันที่ 29 มีนาคม ซึ่งเป็นกำหนดเส้นตายที่อังกฤษต้องออกจากสหภาพยุโรป (EU) โดยไม่มีการสรุปข้อตกลงอย่างเป็นทางการ กำลังใกล้เข้ามาทุกที
ขณะที่นิสสันซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นเปิดเผยในสัปดาห์นี้ว่า บริษัทได้เปลี่ยนฐานการผลิตรถยนต์รุ่น X-Trail จากอังกฤษไปเป็นญี่ปุ่น
Gianluca de Ficchy ประธานบริษัท นิสสัน ยุโรป ระบุในแถลงการณ์ว่า "ในขณะที่ตัดสินใจเรื่องนี้ด้วยเหตุผลทางธุรกิจ ความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในอนาคตของสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปไม่ได้ช่วยบริษัทอย่างเราวางแผนสำหรับอนาคตแต่อย่างใด"
ผลสำรวจดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่เปิดเผยในช่วง 7 วันที่ผ่านมาทั้งในภาคการผลิตของอังกฤษซึ่งมีบทบาทสำคัญในตลาดส่งออก และภาคบริการที่โดดเด่นซึ่งครอบคลุมเกือบ 80% ของเศรษฐกิจนั้น แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง และการชะลอตัวนั้นส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากความกังวลเรื่อง Brexit
อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจอังกฤษมีสัญญาณที่ชัดเจน ซึ่งตามปกติแล้วจะเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้ธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
เป้าหมายหลักของ BoE คือ การรักษาอัตราเงินเฟ้อด้านดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ให้ใกล้เคียงกับระดับ 2% อย่างเท่าที่จะเป็นไปได้
ณ ช่วงเวลาของการลงประชามติเรื่อง Brexit นั้น ดัชนี CPI อยู่ที่ระดับเพียง 0.8% แต่การร่วงลงอย่างรวดเร็วของเงินปอนด์ในตลาดปริวรรตเงินตรา ทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากสินค้าอุปโภคบริโภคและวัตถุดิบที่นำเข้ามาสำหรับผู้ผลิตนั้น มีราคาแพงขึ้น
อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงสุดแตะระดับ 2.8% ในช่วงปลายปี 2560 และค่อยๆลดลงตลอดทั้งปี 2561 โดยตัวเลขล่าสุดสำหรับเดือนธันวาคมชี้ว่า ดัชนี CPI อยู่ที่ระดับ 2.1% ในเดือนธันวาคม
ขณะที่ดัชนี CPI ปรับลดลง แต่การเติบโตของค่าจ้างแรงงานกลับแข็งแกร่งขึ้นในอัตรา 3.4% เมื่อเทียบรายปีในช่วง 3 เดือนจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากอัตราว่างงานที่ระดับต่ำเพียง 4% ในช่วงระยะเวลา 3 เดือนจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน และโดยปกติแล้วปัจจัยเหล่านี้บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจชะลอตัวเล็กน้อยและจะเผชิญกับภาวะที่ร้อนแรงเกินไปในอนาคต แต่ขณะนี้ทุกสิ่งทุกอย่างกลับแขวนอยู่กับสถานการณ์ Brexit
"ธนาคารกลางอังกฤษลงมติเป็นเอกฉันท์ 9-0 ให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.75% ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ และยังสอดคล้องกับการลงมติในการประชุมเมื่อเดือนธันวาคม" ดร.โฮเวิร์ด อาร์เชอร์ หัวหน้าที่ปรึกษาเศรษฐกิจของ EY ITEM Club ซึ่งเป็นกลุ่มการเงินในลอนดอนเปิดเผยเมื่อวานนี้
"ขณะที่ความผันผวนเรื่อง Brexit เข้มข้นขึ้นและยังปกคลุมแนวโน้มในปัจจุบัน ทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ย่ำแย่ลง และเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรสะดุดลงนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงินฯจึงมีความกังวลมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร และทุกสิ่งอย่างจึงถูกล็อคเอาไว้ในโหมดรอดู"
นายอาร์เชอร์กล่าวว่า BoE ได้เน้นย้ำว่า ความไม่แน่นอนของ Brexit "ได้บดบังแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยอย่างมาก" และสถานการณ์ Brexit แบบที่ไม่มีข้อตกลงนั้นอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลงและเพิ่มขึ้นก็ได้ " ขึ้นอยู่กับความสมดุลของกำลังการผลิตของเศรษฐกิจและผลกระทบต่อภาวะอุปสงค์ ขณะที่ความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นปัจจัยด้วยเช่นกัน"
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินปอนด์ปรับตัวรับการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษและการแถลงข่าวที่ตามมาของนายมาร์ค คาร์นีย์ เมื่อวานนี้ โดยปอนด์อ่อนค่าลงในช่วงแรก แต่หลังจากนั้นก็ฟื้นตัวขึ้นสูงกว่าระดับเปิดตลาด
หยุดชะงักชั่วคราวหลัง BREXIT
นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษกำลังหาทางแก้ไขอุปสรรคของข้อตกลง Brexit ซึ่งเธอได้เจรจากับสหภาพยุโรปแล้ว แต่ข้อตกลงในการถอนตัวกลับสภาผู้แทนราษฎรปฏิเสธ
หากนางเมย์ประสบความสำเร็จ หรือพบวิธีการอื่นๆที่ให้เกิดความมั่นใจในกระบวนการ Brexit อังกฤษก็อาจจะถอนตัวออกจากอียูได้ตามกำหนดในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม
แต่ BoE ยังคงมีแนวโน้มที่จะรอและดูว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ในขณะที่เศรษฐกิจจะปรับตัวตามความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้น และปัจจัยพื้นฐานที่เปลี่ยนแปลงไป
นายอาร์เชอร์กล่าวว่า "ไม่มีแนวโน้มที่ BoE จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในทันที แม้ว่าสหราชอาณาจักรจะออกจากสหภาพยุโรปในช่วงปลายเดือนมีนาคมได้โดยมีข้อตกลงก็ตาม โดย BoE อาจชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยไปอีก 2-3 เดือนเพื่อดูว่า เศรษฐกิจจะปรับตัวอย่างไรหลังจากสหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากอียู"
นายพิวจ์เองก็เห็นด้วย โดยระบุว่า "พวกเขาอาจรอดูว่า เศรษฐกิจจะปรับตัวอย่างไร มากกว่าที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในทันที"
แต่แนวโน้มของการเกิด Brexit แบบไร้ระเบียบ ซึ่งหนึ่งในนั้น ได้แก่การที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลงนั้น อาจทำให้เกิดผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจเชิงลึกและฉับพลัน และจะทำให้ BoE ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายพิวจ์กล่าวว่า "หากเราเผชิญ Brexit ที่ไร้ระเบียบ ธนาคารกลางอังกฤษอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย"
สำนักข่าวซินหัวรายงาน