สถานการณ์ในกรุงฮานอยได้พลิกผันอย่างน่าประหลาดใจในช่วงบ่ายวานนี้ หลังจากที่การประชุมสุดยอดครั้งที่ 2 ระหว่างนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐได้สิ้นสุดลง โดยไม่มีการทำข้อตกลงใดๆ หลังการหารือกันเป็นเวลา 2 วัน
ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นเพราะ "ช่องว่าง" ระหว่างสองฝ่ายเกี่ยวกับประเด็นการปลดอาวุธนิวเคลียร์และการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร
นายคิมและปธน.ทรัมป์ได้ยกเลิกงานเลี้ยงอาหารกลางวันที่วางแผนไว้ รวมถึงพิธีลงนามในแถลงการณ์ร่วม ขณะที่การแถลงข่าวเดี่ยวของปธน.ทรัมป์ก็จัดขึ้นเร็วกว่ากำหนดถึง 2 ชั่วโมง
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ในการอธิบายถึงเหตุผลที่ไม่มีการทำข้อตกลงกันนั้น ปธน.ทรัมป์กล่าวว่า "จริงๆแล้วเกาหลีเหนือต้องการให้ยกเลิกการคว่ำบาตรทั้งหมด และเราไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เกาหลีเหนือยินดีที่จะยกเลิกโครงการนิวเคลียร์ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ที่เราต้องการ แต่เราไม่สามารถยกเลิกการคว่ำบาตรได้ทั้งหมด เราจะยังคงดำเนินการต่อไป และเราจะรอดู"
นายแพค ฮัค ซุน ประธานสถาบันเซจองแห่งเกาหลีใต้กล่าวว่า จุดสำคัญก็คือ "ลำดับขั้นตอน" ของการปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี "ดูเหมือนว่า ความต้องการของสหรัฐจากเกาหลีเหนือนั้นรวมถึงโรงงานนิวเคลียร์และขีปนาวุธข้ามทวีป ขณะที่เกาหลีเหนือต้องการให้ 'ยกเลิก' การคว่ำบาตรทั้งหมด ทั้งสองฝ่ายจึงยังไม่สามารถตกลงกันได้" นายแพคกล่าว นายหวัง ซีหยู นักวิจัยจากสถาบันการศึกษานานาชาติของจีนกล่าวว่า ความล้มเหลวของการประชุมสุดยอดแสดงให้เห็นว่า ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งในเรื่องการรื้อถอนโรงงานนิวเคลียร์ที่สำคัญของเกาหลีเหนือ และข้อเสนอต่างๆ ของสหรัฐ
ขณะที่นายหวัง เชง ศาสตราจารย์ด้านการเมืองระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยจี้หลินมองว่า ผลการประชุมสุดยอดครั้งนี้น่าแปลกใจมาก การประชุมสุดยอดแสดงให้เห็นว่า "ยังคงมีความขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่ายเกี่ยวกับแนวคิด วิธีการและขั้นตอนของการปลดอาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงความแตกต่างของการกระทำระหว่างทั้งสองฝ่ายก็ยังคงมีอยู่"
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญทุกคนยอมรับว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้เป็น "สิ่งจำเป็น" และได้วางรากฐานสำหรับการเจรจาและความคืบหน้าในอนาคต
นายแพคเห็นด้วยกับคำพูดของปธน.ทรัมป์ในงานแถลงข่าวที่ว่า "ความคืบหน้าที่แท้จริง" ได้เกิดขึ้นในการประชุมสุดยอดครั้งที่สอง และการประชุมสุดยอดครั้งนี้ "จะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย"
"ผมคิดว่า แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะไม่ได้ลงนามในข้อตกลงในครั้งนี้ แต่ผู้นำระดับสูงจากทั้งสองประเทศก็ได้นั่งคุยกัน และการยืนยันถึงปัญหาที่มีอยู่ ก็เป็นประโยชน์ในการผลักดันการปลดอาวุธนิวเคลียร์และการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรในอนาคต จากมุมมองนั้น มันก็เป็นกระบวนการที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้" เขากล่าว
นายหวัง จุนเชง ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสถาบันสังคมศาสตร์จีนเชื่อว่า การประชุมสุดยอดที่ฮานอยจะถือเป็น "ข้อตกลงการเปลี่ยนผ่าน" เพื่อเชื่อมโยงอดีตและอนาคต
"การแก้ไขประเด็นนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีไม่เพียงแต่เป็นบททดสอบความจริงใจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการทดสอบภูมิปัญญาของทั้งสองฝ่ายด้วย" เขากล่าว
นายหยางกล่าวว่า กระบวนการปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีนั้นได้เผชิญกับการพลิกผันในอดีต แต่ก็ไม่เคยหยุดนิ่งและไม่เคยล้มเลิก เพราะมันเป็นประโยชน์กับทุกคนรวมถึงเกาหลีเหนือ
นายโกห์ หยู วาน ศาสตราจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการศึกษาเกาหลีเหนือที่มหาวิทยาลัยทงกุกของเกาหลีใต้เสนอแนะว่า ทั้งสองฝ่ายยังคงต้องเจรจากันต่อไปเพื่อลดช่องว่าง และประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องรวมถึงเกาหลีใต้และจีน ควรเข้าร่วมเพื่อช่วยเหลือในกระบวนการดังกล่าว
ทางด้านนายลู่ กัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลของการประชุมสุดยอดครั้งนี้ โดยกล่าวว่า สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และกลับสู่เส้นทางที่เหมาะสมของการยุติความขัดแย้งทางการเมืองในปีที่ผ่านมา ผลลัพธ์นี้เป็นชัยชนะที่ได้มาด้วยความยากลำบากและควรได้รับการชื่นชม
นายลู่หวังว่า เกาหลีเหนือและสหรัฐจะยังคงมีส่วนร่วมในการเจรจา แสดงความจริงใจต่อกันและกัน เคารพและใส่ใจต่อความกังวลที่ชอบธรรมของกันและกัน และร่วมกันส่งเสริมการปลดนิวเคลียร์ รวมไปถึงการจัดตั้งกลไกสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี
" จีนก็จะยังคงดำเนินบทบาทที่สร้างสรรค์ต่อไป" นายลู่กล่าว