นายอิกนาซิโอ วิสโก ผู้ว่าการธนาคารกลางอิตาลีเปิดเผยว่า อิตาลีไม่สามารถประวิงเวลาในการเริ่มปรับลดหนี้สาธารณะของประเทศ ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการจุดประเด็นหนี้สินขึ้นมาใหม่อีกครั้ง หลังจากปัญหานี้ได้กดดันอิตาลีมาเป็นเวลาหลายปี และขณะนี้อยู่ใกล้ระดับวิกฤติแล้ว
หนี้สาธารณะของอิตาลีใกล้แตะระดับ 2.4 ล้านล้านยูโร (2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเท่ากับ 132% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)
หนี้สาธารณะของอิตาลีอยู่ที่ระดับสูงสุดในสหภาพยุโรป (EU) และอยู่ที่ระดับสูงสุดอันดับสองรองจากกรีซ เมื่อคิดเป็นเปอร์เซนต์ของ GDP
ระดับหนี้ของอิตาลีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่นายวิสโกระบุว่า แนวโน้มดังกล่าวจะต้องถูกเปลี่ยนแปลง
นายวิสโกระบุในสุนทรพจน์ที่โพสต์ในเว็บไซต์ของธนาคารกลางอิตาลีว่า การพัฒนากลยุทธ์ที่น่าเชื่อถือเพื่อลดภาระหนี้สาธารณะในระดับสูงของอิตาลีในระยะกลางนั้น ไม่สามารถถูกเลื่อนต่อไปได้อีก
นายวิสโกระบุว่า ความวิตกเกี่ยวกับความสามารถของอิตาลีในการชำระหนี้นั้น ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร ปรับตัวขึ้นสู่ระดับที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งจะทำให้รัฐบาลเสียเงินมากขึ้น และทำให้เป็นการยากมากขึ้นที่บริษัทต่างๆ จะขอสินเชื่อ
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่สูงขึ้น สะท้อนถึงความวิตกของนักลงทุน ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นในการดึงดูดผู้ซื้อ ขณะที่ภาวะสินเชื่อตึงตัวสำหรับบริษัทต่างๆ ทำให้ปัญหาดังกล่าวยิ่งย่ำแย่ลง และเพิ่มความยากลำบากให้กับบริษัทต่างๆ ที่ต้องการขยายธุรกิจ
เมื่อวานนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของอิตาลี ปิดตลาดที่ระดับ 2.71% ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับวันพุธ แต่ยังคงอยู่ใกล้ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอิตาลีที่ระดับ 2.71% เป็นระดับที่แตกต่างอย่างรุนแรงจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในประเทศขนาดใหญ่อื่นๆ ในเขตยูโรโซน ซึ่งประกอบด้วย 19 ประเทศ
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีในฝรั่งเศสอยู่ที่เพียง 0.29% ในสเปนอยู่ที่ 0.91% ในเนเธอร์แลนด์อยู่ที่ 0.12% และในเยอรมนีอยู่ที่ -0.11% ซึ่งบ่งชี้ว่านักลงทุนเต็มใจที่จะจ่ายเงินเพื่อถือครองพันธบัตรของธนาคารกลางเยอรมนี
นายเจียมเปาโล กัลลิ รองผู้อำนวยการของสำนักงานตรวจสอบบัญชีสาธารณะของอิตาลีเปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า "อันตรายของรัฐบาลที่มีหนี้สินมากเกินไป ก็คือ จะมีจุดที่นักลงทุนไม่เชื่อถืออีกต่อไปว่า ประเทศนั้นจะสามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งประเทศนั้นจะไม่สามารถรอคอย จนกระทั่งเจ้าหนี้สูญเสียความเชื่อมั่น แต่จะต้องดำเนินการล่วงหน้า"
นายวิสโกกล่าวว่า เวลาในการแก้ไขปัญหากำลังจะหมดลงแล้ว โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ใช่แค่เพียงหนี้ที่ระดับสูงเท่านั้น ที่ทำให้นักลงทุนวิตก และทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งขึ้น
เขากล่าวว่า ความไม่เต็มใจของรัฐบาลอิตาลีที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สินและยอดขาดดุลงบประมาณ รวมถึงเงินอุดหนุนที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการสนับสนุนทางการเมือง มากกว่ากระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจนั้น ก็มีส่วนทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวด้วย
นายวิสโกระบุว่า "รัฐบาลควรจะจัดการกับปัจจัยต่างๆที่ทำให้นักลงทุนมองว่าเป็นความเสี่ยงมากขึ้น อาทิ เงื่อนไขด้านงบประมาณที่หละหลวม และความถี่ของการถ่ายโอน และการอุดหนุนเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ นายวิสโกได้ออกมาแสดงความเห็นดังกล่าวก่อนการเลือกตั้งรัฐสภายุโรประหว่างวันที่ 23-26 พ.ค. โดยทั้งพรรคไฟว์ สตาร์ และพรรคเดอะ ลีก ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีจูเซปเป คอนเตนั้น ได้ผลักดันนโยบายต่างๆ ซึ่งอาจช่วยสนับสนุนคะแนนเสียงของพวกเขา และ สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในช่วงครึ่งปีหลัง
บทวิเคราะห์โดย Eric J. Lyman
สำนักข่าวซินหัวรายงาน