"การกีดกันการค้าไม่สามารถแก้ปัญหาความปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ตได้ การป้องกันปัญหาความปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ตนั้นจะต้องมีการจัดทำมาตรฐาน กฎระเบียบ และการบริหารจัดการ" นายโจว เจิ้น ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาธารณะและการสื่อสาร ภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ บจก.หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) กล่าวในระหว่างที่เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้สอบถามภายหลังจากที่พาเยี่ยมชม OPEN LAB และเทคโนโลยี 5G ในวันนี้
การแสดงความเห็นดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าธุรกิจต่อไป แม้ว่า หัวเว่ยจะต้องเผชิญกับแรงกดดันหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติเพื่อห้ามบริษัทของสหรัฐจากการใช้เทคโนโลยีและบริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของบริษัทที่สหรัฐเชื่อว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ แม้ว่าทรัมป์จะไม่ได้เอ่ยชื่อหัวเว่ยออกมาตรง ๆ แต่ก็เป็นที่รู้ดีกันว่าการดำเนินการดังกล่าวพุ่งเป้ามายังหัวเว่ยอย่างชัดเจน จนทำให้สำนักงานอุตสาหกรรมและความมั่นคง (BIS) ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ขึ้นบัญชีดำหัวเว่ย และบริษัทในเครืออีก 70 แห่งไว้ใน "Entity List" ซึ่งเป็นบัญชีรายชื่อบริษัทด้านสื่อสารโทรคมนาคมที่ถูกสั่งห้ามไม่ให้บริษัทของสหรัฐเข้าซื้ออุปกรณ์ต่างๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐ
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาธารณะและการสื่อสาร ภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ บจก.หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ยังกล่าวด้วยว่า ไม่ว่าจะเกิดสงครามการค้าหรือสงครามเทคโนโลยี หัวเว่ยก็จะเดินหน้าทำธุรกิจต่อไปด้วยการนำสิ่งที่ดีที่สุดมานำเสนอ โดยหัวเว่ยได้เจรจากับพันธมิตร ซัพพลายเออร์ของบริษัทมาโดยตลอดหลังจากที่เกิดสงครามการค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชน ตลอดจนความแตกแยกในวงการธุรกิจ
ผู้บริหารระดับสูงจากบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) รายนี้ยังได้กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า ปัญหาข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนในขณะนี้จะไม่กระทบต่อยอดขายของหัวเว่ย และหัวเว่ยมีความยินดีในการร่วมมือกับทุกฝ่าย รวมถึงสหรัฐ เพื่อกอบกู้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
นายโจว เจิ้น กล่าวว่า การที่สหรัฐได้ใช้มาตรการกดดันหัวเว่ยนั้นได้ส่งผลกระทบต่อหัวเว่ยอยู่บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา แต่ยอดขายของหัวเว่ยยังไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจนน่าวิตกกังวล โดยคาดว่ายอดขายจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้ และไม่มีสัญญาณว่าจะปรับตัวลดลงแต่อย่างใด
สำหรับยอดขายที่ผ่านมาของหัวเว่ยทั่วโลกนั้น ยอดขายในไตรมาสแรกของปีนี้ทะยานขึ้นถึง 39% ขณะที่ยอดขายในเดือนเมษายนปีนี้เพียงเดือนเดียวก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 25% และไม่นานมานี้ บริษัทวิจัยตลาดเทคโนโลยีจากสหรัฐเองยังจัดอันดับให้หัวเว่ย ยังคงรั้งตำแหน่งแบรนด์สมาร์ทโฟนอันดับสองของโลกในไตรมาสแรกของปีนี้ด้วย
นอกจากนี้ นายโจว เจิ้น ยังได้กล่าวให้ความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคชาวไทยว่า หัวเว่ยมีความห่วงใยและใส่ใจความคิดเห็นของชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง และหัวเว่ยมั่นใจว่าจะฟื้นฟูความเชื่อมั่นกลับมาให้คงเดิมในไม่ช้า เพราะหัวเว่ยมีการร่วมงานกับพาร์ทเนอร์หลาย ๆ ฝ่ายเพื่อหาหางแก้ไขปัญหาและกอบกู้ความเชื่อมั่นไปพร้อมกัน เนื่องจากการที่สหรัฐได้เพ่งเล็งหัวเว่ย ได้เข้ามาขัดขวางห่วงโซ่อุปทาน และทำให้ทุกฝ่ายเดือดร้อน รวมถึงฝ่ายสหรัฐเอง การเจรจาหารือและทำข้อตกลงร่วมกันกับทุกฝ่ายจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด
นายโจว เจิ้น ได้ตอบคำถามกรณีที่บริษัทอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล (Google) ได้ระงับการทำธุรกิจกับบริษัทหัวเว่ยก่อนหน้านี้เพราะถูกสหรัฐสั่งแบนว่า ขณะนี้ทางหัวเว่ยมีการติดต่อกับกูเกิลอยู่ตลอดเวลาเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว และทางกูเกิลเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับสหรัฐที่ใช้มาตรการกดดันหัวเว่ยเช่นนี้ เพราะกูเกิลก็เดือดร้อนไม่แพ้กัน
หากกูเกิลระงับการทำธุรกิจกับหัวเว่ยจริงแล้ว สมาร์ทโฟนของหัวเว่ยจะไม่สามารถอัพเดตระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) ตลอดจนเข้าถึงแอปพลิเคชันยอดนิยมอย่าง Google Play Store, Gmail และ YouTube ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของกูเกิลได้ อย่างไรก็ดี หัวเว่ยได้มีแผนรับมือในส่วนนี้แล้ว โดยก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่า หัวเว่ยได้ซุ่มพัฒนาระบบปฏิบัติการของหัวเว่ยเองชื่อ ‘HongMeng’ ซึ่งถูกระบุว่าเป็นระบบปฏิบัติการที่หัวเว่ยพัฒนามาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อใช้เป็นแผนสองกรณีที่หัวเว่ยถูกแบนไม่ให้ใช้ซอฟต์แวร์ของสหรัฐในอุปกรณ์ของตน แต่ ณ วันนี้ยังไม่มีข้อมูลชี้ชัดว่า สมาร์ทโฟนรุ่นต่อ ๆ ไปของหัวเว่ยจะใช้ระบบ Android ของกูเกิล หรือใช้ระบบ HongMeng ที่พัฒนาขึ้นเอง
นักวิเคราะห์มองว่า การดึงหัวเว่ย ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของจีนเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐนั้น เป็นเพราะหัวเว่ย มีธุรกิจหลักคือธุรกิจด้านเครือข่าย ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับสหรัฐเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเทคโนโลยี 5G ที่หัวเว่ยถือเป็นผู้นำด้านนี้อยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยเองก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งของชาติตะวันตกอย่างเทียบเคียงกันได้ ไม่ว่าจะเป็นกับเจ้าใหญ่ในตลาดอย่าง Nokia และ Ericsson ด้วยประสิทธิภาพที่เป็นที่ยอมรับในราคาถูกกว่ามาก ยังไม่รวมถึงสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยก็กำลังเป็นที่นิยมแซงหน้าเจ้าตลาดสัญชาติสหรัฐอย่างไอโฟนขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองแค่เพียงซัมซุงของเกาหลีใต้เท่านั้น แม้ยังต้องเผชิญข้อกังขาในเรื่องการสอดแนมข้อมูลให้กับรัฐบาลจีน
นายโจว เจิ้น กล่าวตอบคำถามเกี่ยวกับกรณีที่มีรายงานข่าวว่า บริษัท ARM อาจจะพิจารณายุติการจัดส่งผลิตภัณฑ์ให้กับหัวเว่ยว่า หัวเว่ยยังเจรจากับบริษัท ARM และแนะนำให้ติดตามแถลงการณ์เรื่องนี้จากทางเฟซบุ๊ก
สำหรับสาเหตุที่ทำให้หัวเว่ยตกเป็นเป้าในสมรภูมิครั้งนี้ คือความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างผู้บริหารของหัวเว่ยกับรัฐบาลจีนหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวของนายเหริน เจิ้งเฟย ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทที่เคยเป็นถึงวิศวกรในกองทัพปลดแอกประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน จึงไม่แปลกที่จะทำให้เกิดข้อกังขาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของทั้งสอง
ในกรณีดังกล่าว นายโจว เจิ้น ได้ยืนยันต่อสื่อมวลชนในไทยว่า หัวเว่ยเป็นบริษัทเอกชนและไม่ยุ่งเรื่องการเมือง การที่มหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐใช้มาตรการกดดันบริษัทเอกชนรายใดรายหนึ่งนั้น เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและสร้างความประหลาดใจต่อหัวเว่ยอย่างยิ่ง พร้อมกันนี้ยังได้ตอบโต้ว่า หากสหรัฐมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยจริง สหรัฐควรสู้ด้วยเทคโนโลยี ไม่ใช่หันมาอาศัยช่องทางด้านการเมืองกดดันให้ประเทศอื่น ๆ พากันแบนหัวเว่ย เพราะการกำจัดบริษัทใดบริษัทหนึ่งไม่เท่ากับการแก้ไขปัญหาให้หมดไป โดยฝั่งหัวเว่ยนั้นทุ่มงบในการวิจัยและพัฒนาถึง 10% ของยอดขาย และเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมาเพียงปีเดียว หัวเว่ยได้ทุ่มงบประมาณในการวิจัยและพัฒนามากถึง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในช่วง 5 ปีข้างหน้าตัวเลขที่ว่านี้จะแตะหลักแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยจำนวนเม็ดเงินอันมหาศาลนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่หัวเว่ยก้าวหน้าจนถึงปัจจุบัน
สำหรับประเทศไทยนั้น แม้ยอดขายอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ทโฟนอาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่หัวเว่ยยังคงมีความเชื่อมั่นว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะสั้น ๆ และหัวเว่ยยังมีผลิตภัณฑ์และบริการที่นอกเหนือไปจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วไปอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีเครือข่าย ระบบคลาวด์ หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งหัวเว่ยมีโครงการความร่วมมือกับหน่วยงานชั้นนำมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัย องค์กรภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันพัฒนานวัตกรรมที่รายล้อมชีวิตประจำวันของคนไทยแต่อาจยังไม่มีใครทราบ เช่น โครงการความร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. ในการปรับปรุงระบบไฟฟ้าให้มีความฉลาดมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีการนำร่องเทคโนโลยีมิเตอร์อัจฉริยะในพื้นที่บางส่วนของไทยแล้ว โดยเทคโนโลยีมิเตอร์อัจฉริยะดังกล่าวทำหน้าที่ส่งข้อมูลมิเตอร์มาที่กฟภ. โดยไม่ต้องมีคนจดตัวเลข เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการไฟฟ้าด้วยตนเอง ขณะที่ทางกฟภ.ก็สามารถดูและคาดเดาปริมาณการใช้ไฟฟ้าและเห็นปัญหาขัดข้องได้ทันทีไม่ต้องรอให้แจ้งเข้ามา ตลอดจนโครงการ "Safe City" ที่หัวเว่ยพัฒนาร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการวิจัย แต่ก็มีผลงานปรากฏให้เห็นแล้วบ้าง เช่น ระบบกล้องจับความเร็วรถบนท้องถนน มากไปกว่านั้น หัวเว่ยยังมีการให้บริการระบบคลาวด์ที่ศรีราชาเพื่อขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในพื้นที่ด้วย
ทั้งนี้ นายโจว เจิ้น เปิดเผยว่า หัวเว่ยมีความตั้งใจในการนำนวัตกรรมและโซลูชันที่ดีที่สุดมายังไทย และยังได้ตัดสินใจตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในไทย หัวเว่ยมีการทำธุรกิจอย่างจริงใจในประเทศไทย ด้วยการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด ทั้งในเรื่องภาษี แรงงาน การตรวจคนเข้าเมือง และโครงการ CSR โดยเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา หัวเว่ยมีการจ้างงานในไทยถึง 8 พันตำแหน่ง เสียภาษีให้ประเทศไทยถึง 116 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งยังมีการส่งนักเรียนและนักศึกษาไปฝึกอบรมที่เซินเจิ้นและปักกิ่งรวมกันหลายหมื่นคนด้วย ตามความมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปสู่ทุกคน ทุกบ้าน และทุกองค์กร เพื่อสร้างโลกอัจฉริยะที่มีการเชื่อมต่อถึงกันอย่างแท้จริง