Analysis: EU เผยโครงการฉีดวัคซีนโควิดสะดุด เหตุบริษัทผู้ผลิตส่งมอบล่าช้ากว่ากำหนด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 2, 2021 13:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของสหภาพยุโรป (EU) ไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ หลังบริษัทผู้ผลิตวัคซีนทั้งสามแห่งได้แจ้งไปยังประเทศต่างๆว่าการส่งมอบอาจล่าช้าออกไป โดยนับจนถึงขณะนี้ วัคซีนต้านโควิด-19 ที่ EU ได้อนุมัติแล้วนั้น ประกอบด้วยวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค, แอสตร้าเซนเนก้า และโมเดอร์นา

หลังการประกาศดังกล่าวของบริษัทวัคซีนทั้งสามแห่ง นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ได้เรียกประชุมบรรดาผู้ว่าการรัฐต่างๆ ของเยอรมนี รวมถึงผู้ผลิตวัคซีนเป็นการด่วน ขณะที่อิตาลีได้ยื่นฟ้องบริษัทผู้ผลิตที่ไม่สามารถจัดหาวัคซีนได้ตามกำหนด

ส่วนสเปนและฝรั่งเศสอาจเลื่อนการฉีดวัคซีนโดสแรกสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยฉีดออกไปก่อน 2 สัปดาห์ เพื่อให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนโดสแรกไปแล้วได้รับวัคซีนโดสที่สอง ขณะที่โปรตุเกสระบุว่า โครงการฉีดวัคซีนโควิดโดสแรกอาจเสร็จช้ากว่ากำหนด 2 เดือน

ทางด้านนายชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรประบุในแถลงการณ์ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เขาได้สนับสนุนการใช้วิธีการและกระบวนการทางกฎหมายตามที่มีภายใต้สนธิสัญญาสหภาพยุโรป พื่อเป็นหลักประกันถึงการผลิตและจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชนในยุโรป

ทางด้านไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคเผยเมื่อวานนี้ว่า บริษัทจะส่งมอบวัคซีนได้มากกว่า 2 พันล้านโดสในปีนี้ ซึ่งมากกว่าที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ที่ 1.3 พันล้านโดส ซึ่งรวมถึงวัคซีนจำนวน 75 ล้านโดสสำหรับประเทศในยุโรปที่จะส่งมอบในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย. ขณะที่แอสตร้าเซนเนก้าคาดว่าจะสามารถส่งมอบวัคซีนได้เพิ่มอีก 9 ล้านโดสภายในเดือนมี.ค. อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวน้อยกว่าที่บริษัทได้ตั้งเป้าไว้ในตอนแรก โดยคาดว่าทั้งสองบริษัทจะยังไม่มีการผลิตวัคซีนเพิ่มได้เป็นจำนวนมากในช่วงเวลาสั้นๆ

นักวิเคราะห์ด้านสาธารณสุขระบุว่า ความล่าช้าที่เกิดขึ้นทำให้เกิดปัญหาที่ร้ายแรงตามมาหลายด้าน

"ผลกระทบที่เห็นเร็วสุดคือประชาชนใน EU ต้องเสียชีวิตวันละหลายพันคน และติดเชื้อในแต่ละวันอีกเป็นหลายหมื่นๆ คน" นายซิลวิโอ กาแรทตินิ นักวิจัยทางวิทยาศาสตร์และอดีตผู้อำนวยการสถาบัน Mario Negri Institute for Pharmacological Research ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซินหัว และเผยอีกว่า "แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือ ยิ่งไวรัสแพร่ระบาดไปนานเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสกลายพันธุ์มากขึ้นตามไปด้วย"

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ณ วันที่ 26 ม.ค. ขณะนี้ทั่วโลกมีตัวอย่างวัคซีนที่กำลังพัฒนาอยู่ 236 ชนิด โดยในจำนวนนั้นมี 63 ชนิดที่อยู่ในขั้นทดลองทางคลินิกในประเทศต่างๆ รวมถึงเยอรมนี, จีน, รัสเซีย, อังกฤษ และสหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ