เหล่านักวิเคราะห์มองว่า อิตาลีมีแนวโน้มเผชิญกับช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนและภาวะเสื่อมถอยของกระบวนการปฏิรูปประเทศ ในช่วงที่รัฐบาลเผชิญวิกฤตรุมเร้า
นายมาริโอ ดรากี อดีตประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอิตาลีอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 ก.ค. หลังเพิ่งดำรงตำแหน่งได้เพียง 17 เดือน โดยนายดรากีต้องรับหน้าที่เป็นผู้นำรัฐบาลรักษาการไปจนกว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งจะคอยดูแลเรื่องทั่วไปเพื่อไม่ให้เกิดภาวะสุญญากาศทางการเมือง โดยอิตาลีต้องจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ภายในเวลา 70 วัน
"กรณีดังกล่าวหมายความว่า ขณะนี้อิตาลีต้องระงับกระบวนการปฏิรูปเอาไว้ก่อน" นายวินเซนโซ เอมานูเอเล สมาชิกศูนย์เพื่อการศึกษาการเลือกตั้งอิตาลี (CISE) และนักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลูอิส (LUISS) ในกรุงโรมกล่าวต่อสำนักข่าวซินหัว "ในบทบาทใหม่นี้ นายดรากีเพียงแค่ต้องทำให้รัฐบาลดำเนินต่อไป เว้นแต่ว่าจะเกิดภาวะฉุกเฉินสำคัญ"
นายเอมานูเอเลและนักวิเคราะห์รายอื่น ๆ ระบุว่า กรณีดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปที่อยู่ระหว่างดำเนินการ แต่อิตาลีจะไม่สามารถเดินหน้าการปฏิรูปใหม่ ๆ ที่จำเป็นต่อการรับเงินช่วยเหลือและเงินกู้มูลค่าหลายพันล้านยูโรจากกองทุนเยียวยาโควิด-19 ของสหภาพยุโรป (EU)
EU ได้กำหนดเงื่อนไขเบื้องต้นในการรับเงินช่วยเหลือมูลค่า 2 แสนล้านยูโร (2.045 แสนล้านดอลลาร์) จากมาตรการเยียวยาโควิด-19 เอาไว้ว่า อิตาลีจะต้องปฏิรูปตามแผนการฟื้นฟูและสร้างความยืดหยุ่นของประเทศให้เสร็จสมบูรณ์
"ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากมีการระงับหรือชะลอการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับอิตาลี เพราะอิตาลีไม่สามารถดำเนินการปฏิรูปได้ตามกำหนดเวลา" นายเฟเดอริโก คาสโทรินา ประธานกองทุน CulturaDemocratica กล่าวกับสำนักข่าวซินหัว "เศรษฐกิจอิตาลีเปราะบางอยู่แล้ว ดังนั้น หากมองในแง่นั้นจึงไม่ใช่ข่าวดีนัก"
ทำเนียบประธานาธิบดีของประธานาธิบดีแซร์โจ มัตตาเรลลาเปิดเผยว่า อิตาลีจะจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนดในวันที่ 25 ก.ย. หลังนายดรากีลาออกจากตำแหน่งและยุบสภา