ฟิทช์เตือนความเสี่ยงการเมืองไทยป่วน อาจนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิต

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 21, 2024 10:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สถาบันจัดอันดับเครดิตฟิทช์ เรทติ้งส์ (Fitch Ratings) เปิดเผยว่า การที่รัฐสภาไทยลงมติเห็นชอบการแต่งตั้ง แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่างรวดเร็ว และได้รับโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น จะช่วยรักษาความต่อเนื่องของนโยบายได้ แต่สถานการณ์ล่าสุดบ่งชี้ว่า การเมืองไทยที่ผันผวนมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายและความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ฟิทช์เชื่อว่า นายกรัฐมนตรีแพทองธารจะยังคงสานต่อจุดยืนด้านนโยบายต่อจากรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เนื่องจากพรรคเพื่อไทยยังคงเป็นพรรคแกนนำหลักในรัฐบาล และเชื่อว่ามีความเสี่ยงต่ำที่การออกงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จะล่าช้า เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับการบรรจุเข้าพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 ในสภาผู้แทนราษฎรในเดือนหน้าแล้ว ก่อนที่จะส่งให้วุฒิสภาพิจารณาและมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ต่อไป

นายกรัฐมนตรีแพทองธารระบุว่า รัฐบาลจะขอศึกษาและรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ตซึ่งเสนอแจกเงิน 10,000 บาทให้กับคนไทยราว 50 ล้านคน และรัฐบาลชุดก่อนประเมินว่ามีค่าใช้จ่ายประมาณ 2.4% ของจีดีพีเป็นเวลา 2 ปีงบประมาณ

ฟิทช์คาดว่า มีความเป็นไปได้ที่โครงการดังกล่าวจะถูกยกเลิก ปรับเปลี่ยน หรือเลื่อนออกไป แต่คาดว่าจะต้องมีการกระตุ้นด้านการคลังออกมาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

สำหรับการคาดการณ์ล่าสุดของฟิทช์ซึ่งคำนวณรวมกรณีรัฐบาลเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตคาดการณ์ว่า การขาดดุลทางการคลังของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 2.0% ในปีงบประมาณ 2566 เป็น 4.3% ของจีดีพีในปีงบประมาณ 2567 และ 4.4% ในปีงบประมาณ 2568 ซึ่งจะสูงกว่าเมื่อเทียบกับค่ากลางของประเทศในกลุ่มที่มีอันดับเครดิต BBB ด้วยกัน ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 3.2% ในปีงบ 2567 และ 3.0% ในปีงบ 2568

หากรัฐบาลลดขนาดโครงการดิจิทัลวอลเล็ตลง ฟิทช์เชื่อว่ามีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะใช้ทรัพยากรทางการคลังที่ว่างลงนั้นเพื่อเป็นทุนในการดำเนินมาตรการอื่น ๆ และอาจมีแรงกดดันทางการเมืองให้ต้องมีมาตรการใช้จ่ายขนาดใหญ่เพิ่มเติมอีกหลังจากปีงบประมาณ 2568 ซึ่งอาจเป็นการยากที่จะกลับมารัดเข็มขัดทางการคลังในระยะกลางเมื่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ตสิ้นสุดลง และสิ่งนี้จะเพิ่มความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มการขาดดุลการคลังและหนี้ภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นนั้นใช้ไปเพียงแค่กระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แทนที่จะจัดการกับอุปสรรคในการเติบโตเชิงโครงสร้าง

ฟิทช์เชื่อว่า การเข้าถึงตลาดเงินตลาดทุนในประเทศของรัฐบาล และโครงสร้างหนี้ที่ดี ซึ่งมีระยะเวลาครบกำหนดชำระคืนที่นานและส่วนใหญ่เป็นหนี้ในสกุลเงินท้องถิ่น ช่วยลดความเสี่ยงบางส่วนเกี่ยวกับการที่สัดส่วนหนี้ภาครัฐต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ปี 2562 อย่างไรก็ตาม หนี้ที่สูงขึ้นอาจจำกัดความสามารถทางการคลังของรัฐบาลในการตอบสนองต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจในอนาคต โดยเมื่อครั้งที่ฟิทช์คงอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ BBB+ พร้อมด้วยคงแนวโน้มมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) ในเดือนพ.ย. 2566 นั้น ฟิทช์ระบุว่า การที่รัฐบาลไม่สามารถรักษาเสถียรภาพอัตราส่วนหนี้สาธารณะ อาจเป็นปัจจัยผลักดันให้ถูกปรับลดอันดับเครดิตลง

ฟิทช์ระบุว่า ความผันผวนทางการเมืองที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งของประเทศไทยได้ขัดขวางประสิทธิภาพของการกำหนดนโยบาย โดยตัวชี้วัดด้านธรรมาภิบาลของไทยนั้นมีคะแนนน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ในระดับ BBB และสถานการณ์ล่าสุดอาจลดโอกาสที่จะปรับปรุงตัวชี้วัดด้านธรรมาภิบาลที่จัดทำโดยธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งฟิทช์เคยคาดการณ์เมื่อเดือนพ.ย. 2566 ว่า ตัวชี้วัดนี้ของไทยจะดีขึ้น

ความผันผวนทางการเมืองยังเป็นอุปสรรคต่อความพยายามของไทยในการเพิ่มความเชื่อมั่นในหมู่นักลงทุนต่างชาติ ธุรกิจในประเทศ และผู้บริโภค

ฟิทช์เชื่อว่า การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และการตอบสนองของสาธารณชนที่ค่อนข้างเงียบต่อการยุบพรรคก้าวไกลนั้น แสดงให้เห็นว่า ความเสี่ยงที่ความไม่สงบทางการเมืองจะลุกลามนั้นยังอยู่ในระดับต่ำในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ยังไม่สามารถตัดความเป็นไปได้ที่จะมีความเสี่ยงทางการเมืองเพิ่มขึ้น และปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองนั้นก็เพียงพอที่จะทำให้ประสิทธิผลของการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจและแนวโน้มการเติบโตอ่อนแอลง จนอาจนำไปสู่การปรับอันดับเครดิตในเชิงลบตามมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ