In Focus"เจเน็ต เยลเลน" ว่าที่ประธานผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ 100 ปีของเฟด

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 16, 2013 13:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐ ได้ประกาศแต่งตั้งนางเจเน็ต เยลเลน รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นเป็นประธานเฟดคนใหม่ต่อจากนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดคนปัจจุบันที่จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 31 มกราคมปีหน้า ซึ่งหากวุฒิสภาสหรัฐให้ความเห็นชอบแล้ว นางเยลเลนจะเป็นสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้ดำรงตำแหน่งประธานเฟด ซึ่งหลายคนกล่าวว่าเป็นตำแหน่งที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ เป็นรองแค่ประธานาธิบดีเท่านั้น

ประวัติสวยหรู

นางเจเน็ต เยลเลน เกิดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2489 ในบรูกลิน มหานครนิวยอร์ก เธอสำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบราวน์ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเมื่อปี 2510 และจบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยลเมื่อปี 2514 จากนั้นเธอได้สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดตั้งแต่ปี 2514-2519 และดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และธุรกิจที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ระหว่างปี 2523-2537

สำหรับประวัติการทำงานกับเฟดนั้น นางเยลเลนเคยเป็นที่ปรึกษาให้กับคณะกรรมการเฟดในช่วงปี 2520-2521 โดยเฉพาะในเรื่องเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2537 ประธานาธิบดีบิล คลินตัน ได้เสนอชื่อเธอเป็นคณะกรรมการเฟด และแต่งตั้งเธอเป็นประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจในปี 2540 จากนั้นในช่วงในปี 2547-2553 เธอเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเฟดสาขาซานฟรานซิสโก ก่อนจะรับตำแหน่งรองประธานเฟดตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2553 จนถึงปัจจุบัน

ทางด้านครอบครัวของนางเยลเลนนั้น เรียกได้ว่าเป็นครอบครัวนักเศรษฐศาสตร์ของแท้ โดยนางเยลเลนสมรสกับนายจอร์จ อาเคอร์ลอฟ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ และมีบุตรชายหนึ่งคนคือ นายโรเบิร์ต อาเคอร์ลอฟ ซึ่งปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์

สานต่องานเบอร์นันเก้

นางเยลเลนได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่สนับสนุนแนวทางการทำงานของนายเบน เบอร์นันเก้ ที่พยายามใช้มาตรการเชิงรุกใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการตรึงอัตราดอกเบี้ยต่ำและการเข้าซื้อพันธบัตรปริมาณมหาศาล นอกจากนี้ เธอยังมีมุมมองทางเศรษฐกิจที่เข้ากันได้ดีกับแนวทางของรัฐบาลโอบามา โดยเฉพาะที่เธอมองว่าอัตราว่างงานในระดับสูงเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ เธอจึงสนับสนุนการลดอัตราว่างงานด้วยการตรึงดอกเบี้ยที่ระดับต่ำ แม้ว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นก็ตาม

ปธน.โอบามากล่าวในระหว่างการประกาศเสนอชื่อนางเยลเลนอย่างเป็นทางการที่ทำเนียบขาวว่า "ผมพิจารณาจากหลายปัจจัย ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือการทำความเข้าใจกับเป้าหมายหลัก 2 ประการของเฟด คือการใช้นโยบายการเงินที่ดีเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ แต่ในขณะเดียวกันก็จะต้องเพิ่มการจ้างงานและสร้างตำแหน่งงาน ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยท้าทายทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของเราในขณะนี้ และผมก็พบคุณสมบัติเหล่านี้ในตัวเจเน็ต เยลเลน"

ขณะเดียวกัน บิล กรอส ผู้ก่อตั้งกองทุนรายใหญ่อย่างพิมโก้ เปิดเผยว่า การตัดสินใจที่จะยังไม่ชะลอมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในการประชุมเมื่อวันที่ 17-18 กันยายนที่ผ่านมานั้น ชี้ให้เห็นว่า เบอร์นันเก้ต้องการที่จะส่งมอบหน้าที่ในการดูแลนโยบายให้กับนางเยลเลนต่อไป

ปัญหาที่รออยู่

นางเยลเลนต้องเผชิญกับปัญหามากมายหากได้ดำรงตำแหน่งประธานเฟด โดยเฉพาะในประเด็นการลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ก่อนหน้านี้เฟดได้ส่งสัญญาณแล้วว่าต้องการปรับลดขนาด QE ลง เพราะฉะนั้นสิ่งที่นางเยลเลนต้องเข้ามาจัดการคือ การพยายามลดขนาด QE โดยไม่ให้กระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดการเงิน โดยต้องดูทิศทางตลาดให้ดีและส่งสัญญาณให้ถูกเวลาเพื่อบรรเทาแรงต้านให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้ นางเยลเลนต้องพยายามหาทางลดอัตราว่างงานที่สูงถึง 7.3% ซึ่งสิ่งที่เธอน่าจะทำก็คือการตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำเพื่อกระตุ้นการจ้างงาน แต่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำอาจทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ขณะที่หลายฝ่ายกังวลว่าเธออาจไม่ให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพของอัตราเงินเฟ้อเท่าที่ควร เพราะเธอเคยระบุว่า เธอยอมรับอัตราเงินเฟ้อเหนือเป้า 2% ของเฟดเป็นการชั่วคราวเพื่อผลักดันอัตราว่างงานให้ลดลงเร็วขึ้น

อันที่จริงแล้ว การจะได้รับตำแหน่งประธานเฟดคนใหม่หรือไม่นั้นไม่ใช่เรื่องที่น่าหนักใจสำหรับนางเยลเลน เพราะมีการคาดการณ์ว่าวุฒิสภาสหรัฐจะลงมติเห็นชอบให้เธอดำรงตำแหน่งนี้อย่างแน่นอน แต่สิ่งที่น่าหนักใจจริงๆ คือปัญหาต่างๆที่รอเธออยู่ เจเน็ต เยลเลน ว่าที่ประธานหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ 100 ปีของเฟด จะทำงานได้สมกับที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้นำสหรัฐหรือไม่นั้น ต้องติดตามกันต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ