นายฟิชเชอร์กล่าวกับกลุ่มนักการเงินว่า ถึงแม้ว่าอัตราว่างงานจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 7.1% แต่ขณะนี้ ยังเร็วเกินไปที่จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงจากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.5%
นายฟิชเชอร์ซึ่งเป็นสมาชิกคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ ระบุว่า “ถึงแม้ว่าอัตราว่างงานจะลดลงมาแตะที่ระดับ 7% ในอนาคตอันใกล้นี้ แต่ผมก็ยังไม่เห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้นโยบายแบบรัดกุม"
นายฟิชเชอร์กล่าวต่อไปว่า “คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินมีความชัดเจนมาโดยตลอดว่า หากอัตราว่างงานลดลงมาอยู่ที่ 7% เรายังต้องพิจารณาแรงกดดันในระยะกลางและจะดำเนินการอย่างเหมาะสมในเรื่องทิศทางและจังหวะในการใช้นโยบาย"
ทั้งนี้ ธนาคารกลางอังกฤษกำหนดให้อัตราว่างงานที่ระดับ 7% เป็นระดับที่ธนาคารจะพิจารณาทบทวนอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5%
ในช่วงที่ธนาคารเปิดเผยแนวนโยบายเมื่อเดือนก.ย.ปีที่ผ่านมา อัตราว่างงานในอังกฤษอยู่ที่ระดับ 7.8% และธนาคารคาดว่า ตัวเลขดังกล่าวจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 7% ในช่วงกลางปี 2559 แต่ปัจจุบัน อัตราว่างงานอยู่ที่ระดับ 7.1% หลังจากที่มีรายงานว่าได้ปรับตัวลดลง 0.3% เมื่อวันพุธที่ผ่านมา
นายฟิชเชอร์ระบุว่า ธนาคารกลางอังกฤษกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการเงินในระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน และมีแรงกดดันนานับประการ
แรงกดดันดังกล่าวประกอบไปด้วย วิกฤตยูโรโซน ภาวะสินเชื่อตึงตัว การฉุดรั้งจากการรวมงบประมาณ และรายได้ที่ตึงตัวของภาคครัวเรือนอันเนื่องมาจากการหดตัวของผลผลิตและการปรับตัวขึ้นของราคาพลังงงานและสินค้าโภคภัณฑ์
“นับเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายในเรื่องการเปลี่ยนแปลงในทันทีของความเชื่อมั่นที่เกิดขึ้นพร้อมๆไปกับการฟื้นตัวในปี 2556 แต่การขยายตัวเพียงอย่างเดียวไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจ เพราะการที่เศรษฐกิจเกือบจะทรงตัวในระหว่างปี 2553-2555 เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากมากกว่า" นายฟิชเชอร์ระบุ สำนักข่าวซินหัวรายงาน