เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้นเพียง 126,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2556 และยังปรับขึ้นน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 248,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานเดือนมี.ค.ทรงตัวที่ระดับ 5.5%
นักวิเคราะห์จากหน่วยงานด้านบริหารจัดการความมั่งคั่งของดอยช์ แบงก์กล่าวว่า ตัวเลขจ้างงานเดือนมี.ค.ออกมาน่าผิดหวังอย่างมาก ซึ่งทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ และอาจจะทำให้เฟดต้องเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป จากเดิมที่คาดว่าอาจจะปรับขึ้นในเดือนมิ.ย.
ขณะที่นักวิเคราะห์จากบีเอ็มโอ แคปิตอล มาร์เก็ตส์ กล่าวว่า ภาคธุรกิจของสหรัฐชะลอการจ้างงานในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนที่ว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวต่อไปอีกยาวนานเพียงใด ดังนั้น การที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.ตามที่ได้มีการส่งสัญญาณเอาไว้นั้น อาจจะต้องเลื่อนออกไป
ด้านนายเดวิด สต็อคตัน อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเฟด (ช่วงปี 2543-2554 ) ซึ่งปัจจุบันเป็นนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สัน กล่าวว่า มีแนวโน้มมากขึ้นว่าเฟดอาจจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย. พร้อมกับกล่าวว่า นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดไม่ได้แสดงความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อ แต่กลับ “ให้ความสนใจกับตลาดแรงงานมากกว่า" ในการแถลงเมื่อวันศุกร์ที่ 27 มี.ค.
นายสต็อคตันกล่าวว่า ตลาดแรงงานเป็นมาตรวัดการฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐที่มีความถูกต้องมากกว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และคาดว่าเฟดจะใช้ความระมัดระวังในการตัดสินใจเกี่ยวกับช่วงเวลาในการเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ย อันเนื่องมาจากการขยายตัวที่อ่อนแอในช่วงไตรมาสแรก
ก่อนหน้านี้ นายเบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานเฟดเคยกล่าวเตือนเกี่ยวกับการยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ย 0% (ZIRP) ที่เร็วเกินไป โดยระบุว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วเกินไป ถือเป็นการตัดสินใจที่ผิด เพราะเศรษฐกิจที่อยู่ในระยะฟื้นตัวจะไม่สามารถรับมือกับต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นได้ นอกจากนี้ เบอร์นันเก้กล่าวว่า มีหลายครั้งที่ธนาคารกลางต่างๆ ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป และก็ต้องปรับลดลงในเวลาต่อมา เมื่อพบว่าเศรษฐกิจย่ำแย่ลง