"ดิฉันคาดว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินการขั้นแรกในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงต่อไปในปีนี้ และปรับนโยบายการเงินเป็นแบบปกติ" เขากล่าว
คำกล่าวของนางเยลเลนถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เกิดเหตุการณ์กรีซผิดนัดชำระหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และการทรุดตัวของตลาดหุ้นจีน ซึ่งทำให้ตลาดการเงินคาดว่าเฟดอาจเปลี่ยนแปลงแผนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
นางเยลเลนคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะมีการขยายตัวปานกลางในปีนี้
นอกจากนี้ ประธานเฟดไม่ได้กล่าวถึงการทรุดตัวของตลาดหุ้นจีนในวันนี้ ขณะที่กล่าวถึงกรีซแต่เพียงว่า สถานการณ์ในกรีซยังไม่ได้รับการแก้ไข ขณะที่เศรษฐกิจในยูโรโซนฟื้นตัวขึ้น
ขณะเดียวกัน นายเอริค โรเซนเกรน ประธานเฟดสาขาบอสตัน กล่าวในวันนี้ว่า เฟดจำเป็นต้องจับตาต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และเป็นอุปสรรคต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทดิ่งลงอย่างหนักในช่วงต้นสัปดาห์นี้ ขณะที่นักลงทุนวิตกต่อวิกฤตหนี้กรีซ และการทรุดตัวของตลาดหุ้นจีน
IMF ประกาศปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้สู่ระดับ 3.3% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เศรษฐกิจโลกหดตัวในปี 2009 โดยลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ในเดือนเม.ย.ที่ระดับ 3.5% และต่ำกว่าการขยายตัวในปีที่แล้วที่ 3.4%
นอกจากนี้ IMF ยังได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐในปีนี้ สู่ระดับ 2.5% จากเดิมที่คาดไว้ในเดือนเม.ย.ที่ 3.1%
นายโรเซนเกรนยังระบุว่า จนถึงในขณะนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆทั่วโลกยังไม่ได้มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญที่จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ
เขากล่าวว่า ขณะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น อัตราเงินเฟ้อก็จะปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 2% ซึ่งเป็นเป้าหมายของเฟด ทำให้เป็นการเหมาะสมที่เฟดจะพิจารณาใช้นโยบายการเงินแบบปกติในปีนี้
อย่างไรก็ดี นายโรเซนเกรนย้ำว่า ก่อนที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เฟดจะต้องมั่นใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น วิกฤตหนี้ในกรีซ จะไม่เปลี่ยนแปลงแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ
นายโรเซนเกรนกล่าวก่อนหน้านี้ว่า เฟดอาจจะต้องชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์กำลังบั่นทอนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ
เขาแสดงความคิดเห็นว่า เศรษฐกิจของสหรัฐอาจจะไม่ได้ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งมากนัก เมื่อพิจารณาถึงการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน โดยดอลลาร์ที่แข็งค่าได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการส่งออก จนทำให้มีความเสี่ยงว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะมีการเติบโตอย่างเชื่องช้า