ในการประชุมครั้งนี้ นายฟิชเชอร์ไม่ได้ระบุช่วงเวลาชัดเจนที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี การเปิดเผยของนายฟิชเชอร์ก็สามารถสะท้อนมุมมองของเฟดต่ออัตราเงินเฟ้อของประเทศในปัจจุบัน
นายฟิชเชอร์เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันที่ลดลง ดอลลาร์ที่แข็งค่า และภาวะเศรษฐกิจซบเซาทั่วโลกในขณะนี้ทำให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี เขามองว่าราคาน้ำมันถูกลงเกิดขึ้นแค่เพียงชั่วคราว ส่วนคาดการณ์เงินเฟ้ออยู่ในระดับคงที่ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คาดการณ์ได้ไปว่า เมื่อภาวะซบเซาค่อยๆลดลง แรงกดดันราคาช่วงขาลงก็จะลดลงตามไปด้วย
ขณะเดียวกันนายฟิชเชอร์ยอมรับว่า ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นส่งผลให้ราคานำเข้าลดต่ำลง ซึ่งเป็นปัจจัยที่กดอัตราเงินเฟ้อสหรัฐ
"เป็นไปได้ที่การแข็งค่าของดอลลาร์ในช่วงปีที่ผ่านมาอาจสกัดการขยายตัวของจีดีพีไปจนถึงปี 2559 หรืออาจจะถึงปี 2560 ก็เป็นได้" นายฟิชเชอร์กล่าว
รองประธานเฟดระบุว่า แม้ว่าผลกระทบจากแข็งค่าของดอลลาร์อาจขยายวงไปเรื่อยๆ แต่การร่วงหนักของราคาน้ำมันและภาวะซบเซาของตลาดแรงงานได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง
"ดังนั้น เราอาจคาดการณ์ได้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกำลังเคลื่อนเข้าสู่เป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ในแนวทางที่ชัดเจนยิ่งกว่าเดิม" นายฟิชเชอร์ระบุ
" สำหรับการตัดสินเกี่ยวกับนโยบายการเงินของเรานั้น เราสนใจว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังมุ่งหน้าไปยังทิศทางใด มากกว่าสนใจว่ามาจากไหน"
"ขณะนี้เรากำลังติดตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจจีนและผลกระทบที่แท้จริงหรือที่อาจเกิดขึ้นต่อประเทศอื่นๆอย่างใกล้ชิดยิ่งกว่าปกติ" นายฟิชเชอร์เสริม
นายฟิชเชอร์ยังกล่าวย้ำถึงความจำเป็นที่เฟดจะต้องเดินหน้าปรับนโยบายทางการเงินสู่ภาวะปกติให้เป็นไปด้วยความรอบคอบ พร้อมกับกล่าวว่าแนวทางตลอดกระบวนการเกี่ยวกับดอกเบี้ยนั้น มีความสำคัญยิ่งกว่าจังหวะเวลาที่เจาะจงในการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก สำนักข่าวซินหัวรายงาน