เมื่อพิจารณาถึงภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันของญี่ปุ่น สมาชิกบอร์ดรายนี้มองว่า เป้าหมายเงินเฟ้อ 2% นั้นไม่สอดคล้องกับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในขณะนี้
เขากล่าวเสริมว่า "ในจุดนี้ยากที่จะบรรลุเป้าหมาย 2% อย่างมั่นคงผ่านนโยบายการเงินเพียงอย่างเดียว หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ซึ่งจะหนุนแนวโน้มเงินเฟ้อให้มีความคืบหน้ามากขึ้น"
มุมมองของนายคิอุจินั้นนับว่าแตกต่างไปจากการคาดการณ์ของทางธนาคารกลาง ซึ่งคาดว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ได้ในราวช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2559
นายคิอุจิ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 คณะกรรมการนโยบายที่คัดค้านการผ่อนคลายมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมเมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้ว มองว่านโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษนั้นได้ก่อให้เกิดผลอย่างมีนัยสำคัญ แต่ผลของนโยบายดังกล่าวเริ่มบรรเทาลง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยระยะยาวเริ่มนิ่ง
เขากล่าวว่า "หากการผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติมนั้นมีขึ้นเพื่อหนุนเงินเฟ้อในระยะสั้น มากกว่าระดับที่สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจแล้ว ก็อาจเป็นการบั่นทอนเสถียรภาพด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจและราคา"
ในการประชุมนโยบายครั้งก่อนหน้า นายคิอุจิได้เสนอให้มีการลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ลงมาอยู่ที่ราว 45 ล้านล้านเยนต่อปี ซึ่งขัดแย้งกับเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมที่ต้องการให้เพิ่มฐานเงินที่อัตรา 80 ล้านล้านเยนต่อปี สำนักข่าวเกียวโดรายงาน