ระเบียบใหม่ดังกล่าวนี้กำหนดว่า การชำระบัญชีของกลุ่มสถาบันนอกภาคธนาคารทุกบัญชีนั้น จะต้องลงทะเบียนด้วยชื่อจริง โดยแบ่งบัญชีออกเป็น 3 ประเภทด้วยกันตามระดับความปลอดภัย สำหรับจำนวนเงินที่สามารถชำระได้ผ่านบัญชีดังกล่าวจะอยู่ตั้งแต่ระหว่าง 1,000 หยวน (155 ดอลลาร์สหรัฐ) ไปจนถึง 200,000 หยวนต่อปี
ธนาคารกลางจีนเผยว่า ระเบียบใหม่ดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงการทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์มชำระเงินของธนาคาร
นโยบายดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อป้องกันไม่ให้มีการฝากเงินจำนวนมหาศาลในบัญชีการชำระเงินนอกภาคธนาคาร ซึ่งอยู่นอกเหนือการคุ้มครองของการประกันเงินฝากภาคธนาคาร และอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้บริโภคเอง
นับตั้งแต่ที่บริษัทอาลีบาบาได้เปิดตัวบริการ Alipay อุตสาหกรรมการชำระเงินนอกภาคธนาคารของจีนจึงเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2558 รายการธุรกรรมออนไลน์ของสถาบันบริการชำระเงินมีมูลค่าสูงถึง 32.97 ล้านล้านหยวน พุ่งขึ้น 98.8% เทียบรายปี
หากไม่นับรวมบริการ Alipay และ Tenpay ของ Tencent ซึ่งสามารถทำเงินได้เป็นอย่างดีจากการขายผลิตภัณฑ์การบริหารความมั่งคั่งแล้ว สถาบันนอกภาคธนาคารส่วนใหญ่ต่างก็ประสบกับความยากลำบากในการหาโมเดลธุรกิจที่ทำกำไรดี โดยบางส่วนได้เริ่มมีการเปิดตัวบริการอื่นๆ เช่น บริการฝากเงินสำหรับการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ การกู้เงินแบบ peer-to-peer และแพลตฟอร์มการระดมทุนจากมวลชน
อย่างไรก็ตาม กรณีการฉ้อโกงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้น สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงอันใหญ่หลวงในอุตสาหกรรมนี้
นอกเหนือจากการกำหนดเพดานมูลค่าของการทำธุรกรรมแล้ว กฎระเบียบใหม่ยังห้ามไม่ให้สถาบันรับชำระเงินเพื่อดำเนินการเปิดบัญชีให้กับบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงิน
นโยบายใหม่นี้จะมีการบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป สำนักข่าวซินหัวรายงาน