คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ในการประชุมวันนี้ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ในช่วง 0.25-0.50% ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์กันไว้ หลังจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2006
นางเอสเธอร์ จอร์จ เป็นกรรมการ FOMC เพียงผู้เดียวที่ลงมติให้เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในวันนี้ ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วง 0.50-0.75%
ถึงแม้เฟดเปิดช่องสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย. แต่แถลงการณ์หลังการประชุมบ่งชี้ว่าเฟดไม่รีบร้อนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
เฟดระบุในแถลงการณ์ว่า ตลาดแรงงานได้ปรับตัวดีขึ้น ถึงแม้เศรษฐกิจได้ชะลอตัวลงเมื่อไม่นานมานี้
แถลงการณ์หลังการประชุมของเฟดระบุว่า "กิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจได้ชะลอตัวลง โดยการขยายตัวด้านการใช้จ่ายในภาคครัวเรือนได้ลดลง ถึงแม้รายได้ที่แท้จริงของภาคครัวเรือนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ในระดับสูง"
เฟดระบุว่า อัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายในระยะยาวของเฟดที่ระดับ 2% โดยถูกกระทบจากการลดลงของราคาน้ำมันและดัชนีราคา แต่เฟดมีความเชื่อมั่นว่าอัตราเงินเฟ้อจะดีดตัวแตะ 2% ในระยะกลาง
แถลงการณ์ระบุว่า FOMC จะยังคงจับตาอย่างใกล้ชิดต่อสิ่งบ่งชี้อัตราเงินเฟ้อ, เศรษฐกิจโลก และพัฒนาการทางด้านการเงินต่อไป
ขณะเดียวกัน เฟดคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวในอัตราปานกลาง และตลาดแรงงานจะยังคงแข็งแกร่ง
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ขาดหายไปในแถลงการณ์ฉบับนี้คือการประเมิน "ดุลความเสี่ยง" (balance of risks) ซึ่งจะเป็นการบรรยายถึงสภาวะทางด้านเศรษฐกิจเทียบกับที่เฟดคาดการณ์ไว้
นักวิเคราะห์ระบุว่า การที่เฟดไม่ได้ระบุถึงดุลความเสี่ยง เป็นการบ่งชี้ว่า เจ้าหน้าที่ FOMC มีความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวทั้งในสหรัฐ และในต่างประเทศ
"สิ่งนี้บ่งบอกว่า เฟดจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย. โดยพวกเขาจะต้องระบุดุลความเสี่ยงถึงจะบ่งชี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย" นายโจเซฟ ลาวอร์ญา หัวหน้านักวิเคราะห์ของธนาคารดอยช์แบงก์ กล่าว
นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในปีนี้ในเดือนก.ย. ขณะที่บางส่วนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในเดือนธ.ค.
ขณะนี้ เฟดคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ เทียบกับที่คาดการณ์ 4 ครั้งในเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว