ศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมนีมีคำตัดสินในวันนี้ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไม่ได้ใช้อำนาจเกินขอบเขตในการประกาศโครงการซื้อพันธบัตรจากประเทศสมาชิกที่มีสถานะการเงินที่อ่อนแอในปี 2012
นอกจากนี้ ศาลยังระบุว่า ธนาคารกลางเยอรมนี (บุนเดสแบงก์) สามารถเข้าร่วมโครงการซื้อพันธบัตรดังกล่าว ตราบใดที่มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลสถิตยุติธรรมของยุโรปกำหนดไว้
ทั้งนี้ ECB ได้ริเริ่มโครงการดังกล่าวในเดือนส.ค.2012 โดยใช้ชื่อว่า Outright Monetary Transactions (OMT) หลังจากที่นายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB ยืนยันที่จะทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อรักษายูโรไว้
อย่างไรก็ดี ECB ไม่ได้มีการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด แต่นักวิเคราะห์ระบุว่า การเปิดตัวโครงการ OMT ก็ได้ช่วยสร้างความมั่นใจต่อตลาด และทำให้ยูโรโซนรอดพ้นจากการล่มสลาย
ทางด้านธนาคารกลางเยอรมนีไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ ขณะที่นักวิชาการและนักการเมืองของเยอรมนีจำนวนหนึ่งได้ยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมนีเพื่อให้ตัดสินถึงความถูกต้องตามกฎหมายของ OMT
ต่อมาในวันที่ 14 ก.พ. 2014 ศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมนีมีคำวินิจฉัยวิพากษ์วิจารณ์โครงการ OMT และระบุว่า โครงการดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเกินอำนาจขอบเขตความรับผิดชอบด้านนโยบายการเงินของ ECB แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ยื่นเรื่องดังกล่าวให้ศาลสถิตยุติธรรมของยุโรป ซึ่งเป็นศาลสูงสุดของยุโรป พิจารณาตัดสินต่อไป ซึ่งศาลมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2015 ว่า "โครงการ OMT ไม่ได้เกินขอบเขตอำนาจของ ECB ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการเงิน และไม่ได้ขัดต่อข้อห้ามเกี่ยวกับการระดมเงินทุนของรัฐสมาชิกแต่อย่างใด" และต่อมาศาลได้โอนคดีดังกล่าวกลับสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมนี ซึ่งก็ได้มีคำตัดสินขั้นสุดท้ายในวันนี้เห็นพ้องกับศาลสูงสุดของยุโรป