รายงานการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (MPC) ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ในวันนี้บ่งชี้ว่า BoE มีแนวโน้มออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในการประชุมเดือนหน้า หลังจากที่ BoE ทำการประเมินผลกระทบที่เศรษฐกิจอังกฤษได้รับจากการที่สหราชอาณาจักรลงประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)
"ขณะที่ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ภาวะย่ำแย่ลงระหว่างปัจจัยสนับสนุนการขยายตัว และการดีดตัวของเงินเฟ้อ กรรมการส่วนใหญ่ของ MPC จึงคาดว่าจะทำการผ่อนคลายนโยบายการเงินในการประชุมเดือนส.ค." รายงานระบุ
"จะมีการพิจารณารายละเอียดที่แน่นอนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในการประชุมเดือนส.ค. ซึ่งจะมีการออกรายงานคาดการณ์เงินเฟ้อ"
นอกจากนี้ รายงานการประชุมยังได้บ่งชี้ถึงสาเหตุ 2 ประการที่ BoE ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยในวันนี้
สำหรับสาเหตุที่หนึ่งนั้น รายงานระบุว่า ตลาดการเงินยังคงปรับตัวไปได้ด้วยดี หลังการลงประชามติในสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.เพื่อแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ถึงแม้มีความผันผวนเกิดขึ้นในตลาดหุ้น และการซื้อขายปอนด์ และยูโร
"ทางคณะกรรมการมีความพอใจจากหลักฐานที่บ่งชี้ว่าตลาดยังคงปรับตัวด้วยดีตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งการปรับตัวอย่างยืดหยุ่นของระบบการเงินโดยรวมของสหราชอาณาจักร และกรอบนโยบาย ได้ช่วยลดผลกระทบจากการลงประชามติในครั้งนี้" รายงานระบุ
ส่วนสาเหตุที่สองนั้น มาจากการที่กรรมการ BoE มองว่ายังคงเร็วเกินไปที่จะตัดสินผลกระทบในระยะกลางจากการลงประชามติดังกล่าว
"ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลทางเศรษฐกิจมากนักหลังการทำประชามติ Brexit และยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการสำรวจเกี่ยวกับการปรับคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจของภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ หลังการทำประชามติ" รายงานระบุ
ทั้งนี้ BoE สร้างความผิดหวังต่อตลาดในวันนี้ ด้วยการประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ด้วยคะแนนเสียง 8-1 ซึ่งสวนทางกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25%
นอกจากนี้ BoE ยังได้ลงมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ในการคงวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ระดับ 3.75 แสนล้านปอนด์
การประชุมนโยบายการเงินในวันนี้ เป็นการประชุมครั้งแรกของ BoE หลังการลงประชามติในสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.เพื่อแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป
หาก BoE ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในวันนี้ จะเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบกว่า 7 ปี นับตั้งแต่ที่ BoE ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% จากระดับ 1.00% สู่ระดับ 0.50% ในการประชุมเดือนมี.ค.2009
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังคาดการณ์ว่า BoE จะรื้อฟื้นโครงการ QE ขึ้นมาใหม่ หลังจากที่ BoE อนุมัติโครงการดังกล่าวในวงเงิน 3.75 แสนล้านปอนด์ในปี 2009 ท่ามกลางวิกฤตการเงินทั่วโลกในขณะนั้น และได้ปิดโครงการดังกล่าวในปี 2012
ผลการสำรวจนักวิเคราะห์ระบุว่า โครงการ QE ที่ BoE เปิดขึ้นใหม่อาจมีวงเงิน 5 หมื่นล้านปอนด์ โดยอาจประกาศให้เริ่มมีผลในเดือนนี้ หรือเดือนส.ค.
นายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการ BoE ระบุก่อนหน้านี้ว่า ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น หลังจากที่อังกฤษตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรป บ่งชี้ว่า BoE มีแนวโน้มที่จะต้องออกมาตรการกระตุ้นทางการเงินในฤดูร้อนนี้
นายคาร์นีย์กล่าวว่า "แนวโน้มเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลง ทำให้ BoE มีแนวโน้มที่จะต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินในฤดูร้อนนี้"
ทั้งนี้ การส่งสัญญาณดังกล่าวของนายคาร์นีย์ทำให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า BoE อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันนี้ หรืออาจอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบการเงิน