นายสแตนลีย์ ฟิสเชอร์ รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ได้กล่าวโดยตรงในวันนี้ถึงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่เพิ่งผ่านพ้นในสัปดาห์นี้ แต่เขาได้ส่งสัญญาณขานรับนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ในการเพิ่มมาตรการกระตุ้นทางการคลัง เพื่อผ่อนคลายภาระของเฟดในการใช้นโยบายทางการเงิน
"สำหรับการใช้นโยบายการคลังเชิงขยายนั้น ผมคิดว่าสมาชิกของคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) และคณะกรรมการของเฟด ได้แสดงความเห็นว่า การใช้นโยบายดังกล่าวนั้นจะเป็นประโยชน์" เขากล่าว
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่เฟดบางรายยังได้ขานรับต่อแนวโน้มการมีรัฐบาลและสภาคองเกรสที่มาจากพรรคการเมืองเดียวกัน และการใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคครั้งใหม่ หลังจากที่สหรัฐต้องประสบกับภาวะขัดแย้งทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวในระยะยาว
นักวิเคราะห์ระบุว่า การที่พรรครีพับลิกันสามารถครองอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จทั้งในทำเนียบขาวและสภาคองเกรสนั้น จะช่วยให้นโยบายปรับลดอัตราภาษี และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของนายทรัมป์สามารถขับเคลื่อนได้อย่างราบรื่น และหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ
นอกจากนี้ นายฟิสเชอร์ยังกล่าวว่า เฟดกำลังจับตาการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และเฟดจะทำการปรับนโยบาย หากมีความจำเป็น
"แน่นอน เราจะจับตาสถานการณ์ โดยขึ้นอยู่กับว่าตลาด และเศรษฐกิจจะปรับตัวอย่างไร โดยเราจะปรับนโยบาย หากมองว่ามีความจำเป็น" เขากล่าว
ตลาดพันธบัตรสหรัฐปิดทำการในวันนี้ เนื่องในวันทหารผ่านศึก ขณะที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีพุ่งแตะระดับ 2.15% ในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปีพุ่งแตะระดับ 2.96% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือนเช่นกัน
อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปีทำสถิติทะยานขึ้น 0.38% ในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดรายสัปดาห์นับตั้งแต่ปี 2009
การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรดังกล่าวเกิดจากการที่นักลงทุนคาดการณ์ว่านโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งได้แก่ การปกป้องทางการค้า และการขยายการใช้จ่ายทางการคลัง จะกระตุ้นเงินเฟ้อในประเทศ
ขณะเดียวกัน นายฟิสเชอร์ระบุว่า เหตุผลสนับสนุนให้เฟดยกเลิกนโยบายผ่อนคลายทางการเงินได้มีน้ำหนักมากขึ้น และอัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับสูงสุดที่ระดับต่ำกว่าปกติ
นายฟิสเชอร์คาดว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ใกล้บรรลุภารกิจ 2 ประการของเฟด ได้แก่ การผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อในระยะยาวกลับสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% รวมทั้งการจ้างงานในระดับสูงสุด
นายฟิสเชอร์ยังกล่าวว่า เขามีความเชื่อมั่นว่าผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐต่อประเทศต่างๆจะสามารถจัดการได้ ขณะที่เศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐจะเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจต่างประเทศ