นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวในการแถลงข่าวว่า ยูโรโซนจะเผชิญกับภาวะปั่นป่วนจากการจัดการเลือกตั้งในหลายประเทศในปีหน้า และเป็นหน้าที่ของ ECB ที่จะต้องเข้าไปมีบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจ
"มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นทุกหนทุกแห่ง เมื่อเราดูปฏิทินการเลือกตั้งในปีหน้า" เขากล่าว
ทั้งนี้ ในปีหน้าจะมีการเลือกตั้งผู้นำขึ้นในหลายประเทศ เช่น อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมนี โดยตัวเก็งที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำในอิตาลี และฝรั่งเศส ต่างก็มีจุดยืนที่จะนำประเทศออกจากสหภาพยุโรป และยูโรโซน
ขณะเดียวกัน นายดรากีระบุว่า การที่ ECB มีมติลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ตั้งแต่เดือนเม.ย.ปีหน้า ไม่ได้เป็นการบ่งชี้ว่า ECB กำลังส่งสัญญาณยุติการซื้อพันธบัตรในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
"เราไม่ได้หารือกันถึงการยุติการซื้อพันธบัตรในการประชุมวันนี้แต่อย่างใด" เขากล่าว
นายดรากีระบุว่า วงเงิน 6 หมื่นล้านยูโรอาจมีการปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับที่มีความจำเป็น เพื่อให้คณะกรรมการของ ECB สามารถรับมืออย่างยืดหยุ่นต่อความเสี่ยงต่างๆที่อาจเกิดขึ้น
นายดรากียังกล่าวว่า การตัดสินใจขยายระยะเวลาในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE ในการประชุมวันนี้ จะช่วยหนุนเศรษฐกิจยูโรโซนได้อย่างมาก ถึงแม้ ECB จะลดวงเงิน QE ตั้งแต่เดือนเม.ย.ปีหน้า
นายดรากีกล่าวว่า การตัดสินใจดังกล่าวจะช่วยสร้างความมั่นใจว่าสถานะทางการเงินในยูโรโซนจะยังคงมีความแข็งแกร่ง
ประธาน ECB ระบุว่า การขยายระยะเวลาของมาตรการ QE ออกไปอีก 9 เดือน แทนที่จะเป็น 6 เดือนตามที่ตลาดคาดการณ์กันไว้ บ่งชี้ถึงตลาดที่จะมีเสถียรภาพมากขึ้น และจะทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของ ECB มีความยั่งยืนมากขึ้น
ทั้งนี้ ECB จัดการประชุมนโยบายการเงินในวันนี้ โดยที่ประชุมมีมติขยายระยะเวลาในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE ออกไปอีก 9 เดือน โดยให้สิ้นสุดในเดือนธ.ค.2017 จากเดิมที่จะครบกำหนดในเดือนมี.ค.2017
อย่างไรก็ดี ECB ระบุว่าจะลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรในช่วงเดือนเม.ย.2017-ธ.ค.2017 สู่ระดับ 6 หมื่นล้านยูโร/เดือน จากปัจจุบันที่ระดับ 8 หมื่นล้านยูโร/เดือน
ECB ระบุว่า ทางธนาคารกลางจะพิจารณาปรับวงเงิน และระยะเวลาในการดำเนินมาตรการ QE หากมีความจำเป็น
ขณะเดียวกัน ECB ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ ที่ระดับ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
ECB ยังได้คงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.4% ซึ่งหมายความว่าธนาคารพาณิชย์จะต้องจ่ายค่าฝากแก่ ECB หากมีการนำเงินส่วนเกินมาพักไว้ที่ ECB ซึ่งมาตรการดังกล่าวของ ECB มีขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์นำเงินไปปล่อยกู้แก่ภาคธุรกิจ แทนที่จะนำมาพักไว้ที่ ECB
นอกจากนี้ ECB ยังได้คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25%