นายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางจะต้องสื่อสารด้านนโยบายไปให้ถึงสาธารณชนในวงกว้าง มากกว่าที่จะไปถึงแต่เพียงนักลงทุนในตลาดการเงิน
"เราจะต้องพูดกับประชาชนที่เรารับใช้ก่อน โดยขณะนี้มีคนอ่านหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์สเพียง 3 แสนคน แต่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กในสหราชอาณาจักรมากถึง 30 ล้านคน" เขากล่าว
ทั้งนี้ นายคาร์นีย์ขึ้นกล่าวในเวทีเสวนาในวันนี้ ซึ่งจัดโดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต เยอรมนี ภายใต้หัวข้อ "Communication challenges for policy effectiveness, accountability and reputation" ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมการเสวนา ได้แก่ นายคาร์นีย์ในฐานะผู้ว่าการ BoE นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และนายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB
ทางด้านนายคุโรดะกล่าวว่า วิธีที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงการสร้างความเข้าใจผิดต่อตลาดการเงินก็คือ เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางควรใช้ข้อความที่เรียบง่าย
"ข้อความที่ใช้ควรตรงไปตรงมา นี่เป็นวิธีที่ดีที่สุด" เขากล่าว
ส่วนนางเยลเลนยอมรับว่า ปัจจัยหนึ่งที่ท้าทายเฟดก็คือ การที่เฟดมีสมาชิกคณะกรรมการจำนวนมาก ซึ่งอาจสร้างความสับสนต่อตลาดการเงิน ขณะที่กรรมการเฟดแต่ละคนแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน
"เรามีสมาชิกคณะกรรมการเฟดมากถึง 19 คน และเราก็ใช้ระบบประชาธิปไตยสำหรับการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งระบบดังกล่าวได้เริ่มขึ้นจากประธานเฟดคนก่อนๆ" นางเยลเลนกล่าว
นางเยลเลนยังกล่าวว่า การที่เฟดทำการชี้นำทิศทางนโยบายในอนาคตนั้น เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่ก็ควรดำเนินการอย่างมีเงื่อนไข โดยขึ้นอยู่กับการปรับตัวของเศรษฐกิจในขณะนั้น
"การชี้นำนโยบายของเฟดควรทำอย่างมีเงื่อนไข และเกี่ยวข้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ" นางเยลเลนกล่าว
นายดรากีกล่าวว่า การส่งสัญญาณชี้นำล่วงหน้าสำหรับนโยบายการเงินในอนาคตได้ประสบความสำเร็จในการผลักดันการคาดการณ์ของตลาด และขณะนี้มาตรการชี้นำล่วงหน้าดังกล่าวได้ถือเป็นเครื่องมือด้านนโยบายที่มีความสำคัญ
"มาตรการชี้นำล่วงหน้าได้กลายเป็นเครื่องมือด้านนโยบายอย่างเต็มตัว โดยประสบการณ์ที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จ และเราจะทิ้งเครื่องมือนโยบายการเงินแบบนี้ได้อย่างไร ในเมื่อได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ" นายดรากีกล่าว