ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยว่า หนี้ภาคครัวเรือนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 ซึ่งครอบคลุมหนี้จากสถาบันการเงินเช่นธนาคาร บริษัทประกัน และธนาคารออมสิน พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,468 ล้านล้านวอน (1.4 ล้านล้านดอลลาร์) ในช่วงสิ้นเดือนมี.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้น 17.2 ล้านล้านวอน (1.59 พันล้านดอลลาร์) โดยสาเหตุนั้นมาจากต้นทุนในการกู้ยืมที่ต่ำลง
ตัวเลขดังกล่าวถือว่าสูงสุดนับตั้งแต่ที่เริ่มมีการเก็บข้อมูลในไตรมาสที่ 4 ของปี 2545
แม้ว่าหนี้ภาคครัวเรือนในไตรมาสแรกจะขยายตัวช้าลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ยังถือว่าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง หลัง BOK มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ใกล้ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
ในเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา BOK ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.5% จากระดับต่ำสุดที่ 1.25% นับเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบเกือบ 6 ปีครึ่ง
ทั้งนี้ หนี้ภาคครัวเรือนนั้นขยายตัวเร็วกว่ารายได้ภาคครัวเรือน สร้างความวิตกกังวลว่า ภาระหนี้สินจะมีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้การใช้จ่ายภาคเอกชนได้รับผลกระทบตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าต้นทุนการกู้ยืมจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้ โดยเป้าหมายของเฟดที่ 1.50 - 1.75% นั้น สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ BOK กำหนดไว้แล้ว สำนักข่าวซินหัวรายงาน