แบงก์ชาติอังกฤษประกาศหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจ,เงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรในปีหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 1, 2018 19:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรในปีหน้า ในการประชุมนโยบายการเงินในวันนี้

ทั้งนี้ BoE คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จะขยายตัว 1.7% ในปีหน้า จากเดิมที่คาดการณ์ที่ระดับ 1.8% ในเดือนส.ค.

นอกจากนี้ BoE ยังคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2.1% ในปีหน้า จากเดิมที่คาดการณ์ที่ระดับ 2.2%

อย่างไรก็ดี BoE ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อสำหรับปีนี้ และปี 2564 สู่ระดับ 2.5% และ 2.1% ตามลำดับ โดยได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้น

ทั้งนี้ BoE มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในวันนี้ ตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยการแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)

อย่างไรก็ดี BoE ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด หากกระบวนการ Brexit เป็นไปอย่างราบรื่น

BoE เปิดเผยว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับตัวดีกว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่ภาคธุรกิจได้จำกัดการลงทุนเพื่อรอความชัดเจนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในอนาคตระหว่างสหราชอาณาจักรกับประเทศคู่ค้า

แถลงการณ์ระบุว่า หากกระบวนการ Brexit เป็นไปอย่างราบรื่น เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะยังคงขยายตัว 1.75% ต่อปี แต่ระดับดังกล่าวต่ำกว่าระดับสูงกว่า 2% ก่อนที่สหราชอาณาจักรลงประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป

BoE ยังระบุว่า เศรษฐกิจได้มีการขยายตัวเต็มศักยภาพ และอัตราเงินเฟ้อจะใช้เวลา 3 ปีในการลดลงจากระดับปัจจุบัน ไปยังระดับเป้าหมาย 2% ของ BoE

นอกจากนี้ BoE คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะมีการขยายตัวมากกว่าศักยภาพในปลายปีหน้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาเร็วกว่าที่ BoE คาดการณ์ในเดือนส.ค.

BoE ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 0.75% ในการประชุมเดือนส.ค. ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 นับตั้งแต่เดือนพ.ย.ปีที่แล้ว

ในการประชุมเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว BoE ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 0.50% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี

BoE ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดในเดือนส.ค.2559 ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจ หลังจากที่สหราชอาณาจักรลงประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ