รายงานสรุปความคิดเห็นของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในการประชุมรอบเดือนมี.ค. บ่งชี้ว่า กรรมการ BOJ บางรายมีความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกที่มีผลกระทบต่อญี่ปุ่น รวมทั้งผลกระทบจากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะปรับขึ้นภาษีการขาย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนต.ค.นี้
อย่างไรก็ดี กรรมการ BOJ หลายรายยังคงมองว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงขยายตัวปานกลาง
ในเรื่องของทิศทางดอกเบี้ยนั้น กรรมการรายหนึ่งมองว่า เมื่อประเมินจากภัยเสี่ยงที่กำลังปรากฏให้เห็นแล้ว แบงก์ชาติญี่ปุ่นควรมีความเตรียมพร้อมในการใช้นโยบายตอบโต้ โดยแบงก์ชาติญี่ปุ่นควรผ่อนคลายนโยบายหากปัจจัยหนุนเงินเฟ้อแผ่วลง
สมาชิกอีกรายกล่าวสนับสนุนด้วยว่า ทางแบงก์ชาติต้องชิงลงมือก่อน หากเศรษฐกิจและเงินเฟ้ออยู่ในช่วงขาลง
อย่างไรก็ดี กรรมการรายอื่น ๆ มองว่านโยบายการเงินที่ใช้ในปัจจุบันนั้นผ่อนคลายมากแล้ว แบงก์ชาติจึงควรมีความระมัดระวังหากต้องการผ่อนคลายเพิ่มขึ้นอีก และเมื่อประเมินจากผลกระทบของการผ่อนคลายนโยบายการเงินเป็นเวลานานแล้ว แบงก์ชาติญี่ปุ่นจึงสมควรคงนโยบายการเงินในการประชุมครั้งนี้
สำหรับการประชุมนโยบายการเงินของ BOJ เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมานั้น ธนาคารกลางญี่ปุ่น มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่ระดับ -0.1% รวมทั้งปรับลดมุมมองด้านการส่งออกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรม
คณะกรรมการบริหารของ BOJ ระบุว่า BOJ จะยังคงซื้อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เช่น กองทุน ETF นอกจากนี้ ทางบอร์ดยังได้ระบุว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกนั้นได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจประเทศต่างๆ เช่น จีน
ด้านนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า BOJ จะยังคงยึดมั่นในเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% แม้เศรษฐกิจในต่างประเทศชะลอตัวลงก็ตาม
นายคุโรดะยังกล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงแข็งแกร่ง แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการผลิตของญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการ BOJ ได้แสดงความเชื่อมั่นว่า แม้การชะลอตัวในต่างประเทศจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นบางส่วน แต่เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังสามารถขยายตัวในระดับปานกลาง
นอกจากนี้ นายคุโรดะกล่าวว่า BOJ จะยังคงเดินหน้าบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% พร้อมระบุว่า การดำเนินนโยบายในปัจจุบันต่อไปนั้น ถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม