คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติ 8-2 เสียงในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 2.00-2.25% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้
การประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค.2551
อย่างไรก็ดี นายเอริค โรเซนเกรน ประธานเฟด สาขาบอสตัน และนางเอสเธอร์ จอร์จ ประธานเฟด สาขาแคนซัส ซิตี้ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเมื่อวานนี้ ขณะที่คัดค้านการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยระบุถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปัจจุบัน, อัตราว่างงานต่ำสุดในรอบเกือบ 50 ปี และการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนที่แข็งแกร่ง
ทั้งนี้ เฟดได้เริ่มวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.2558 โดยเฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 9 ครั้งจนถึงปัจจุบัน
แถลงการณ์เฟดระบุถึงความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำของสหรัฐ เป็นสาเหตุสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้
นอกจากนี้ เฟดยังได้ส่งสัญญาณพร้อมที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงต่อไป หากมีความจำเป็น
ขณะเดียวกัน เฟดยังได้ตัดสินใจที่จะยุติการปรับลดงบดุล โดยเร็วกว่าเดิมถึง 2 เดือน จากเดิมที่กำหนดไว้ในเดือนก.ย. โดยเฟดจะระงับการปรับลดการถือครองพันธบัตรที่เฟดได้ทำการซื้อตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ
การที่เฟดทำ QE ถึง 3 รอบ ทำให้งบดุลของเฟดพุ่งขึ้นสูงสุดถึงระดับ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ ก่อนที่จะลดลงสู่ระดับ 3.6 ล้านล้านดอลลาร์ในขณะนี้
แถลงการณ์เฟดระบุว่า เฟดจะยังคงจับตาข้อมูลที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และจะดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ยาวนานเป็นประวัติการณ์
แถลงการณ์ยังระบุถึงความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานสหรัฐ ขณะที่การใช้จ่ายในภาคครัวเรือนได้ฟื้นตัวขึ้น แต่การใช้จ่ายของภาคธุรกิจยังคงอ่อนแอ และอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ
เฟดระบุว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% แต่เศรษฐกิจยังคงมีแนวโน้มที่ไม่แน่นอน