คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนก.ค.เมื่อวานนี้ตามเวลาสหรัฐ โดยระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่า การที่คณะกรรมการ FOMC ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (federal funds rate) ลง 0.25% ในการประชุมเมื่อวันที่ 30-31 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น มีเป้าหมายที่จะป้องกันไม่ให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำเกินไป และป้องกันความเสี่ยงที่การลงทุนในภาคธุรกิจจะทรุดตัวลงมากขึ้น อันเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมาตรการด้านภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
รายงานการประชุมยังระบุด้วยว่า กรรมการเฟดได้อภิปรายเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากกว่าเดิม โดยกรรมการบางส่วนเสนอให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากถึง 0.50% เพื่อกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อให้ดีดตัวขึ้นสู่เป้าหมายของเฟด และยับยั้งผลกระทบจากข้อพิพาทการค้าที่เกิดขึ้นทั่วโลก
"กรรมการเฟดส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาทางเลือกในการกำหนดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในอนาคต" รายงานการประชุมระบุ
นอกจากนี้ รายงานการประชุมยังระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่เห็นพ้องร่วมกับนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดซึ่งกล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมล่าสุดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของมาตรการที่เฟดกำลังดำเนินการอยู่ เพื่อปรับให้เข้ากับสภาวะเศรษฐกิจ และการผ่อนคลายนโยบายการเงินเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการซึ่งเริ่มขึ้นในช่วงต้นปีนี้ ซึ่งในขณะนั้น เฟดได้เปลี่ยนแปลงจุดยืนจากเดิมที่ตั้งใจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ ไปสู่การใช้ "ความอดทน"
นายพาวเวลยังกล่าวด้วยว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นการป้องกันความเสี่ยงในช่วงขาลงเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและเพื่อกระตุ้นเงินเฟ้อ โดยเฟดมองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นเพียงการปรับเปลี่ยนนโยบายในช่วงกลางวัฏจักร ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ต่อเป้าหมายทั้งหมดของเฟด
สำหรับการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 30-31 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น ที่ประชุมมีมติด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 2 เสียง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลง 0.25% สู่ระดับ 2.00-2.25% โดยนายเอริค โรเซนเกรน ประธานเฟด สาขาบอสตัน และนางเอสเธอร์ จอร์จ ประธานเฟด สาขาแคนซัส ซิตี้ ได้คัดค้านการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และสนับสนุนให้เฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.25-2.50% ในการประชุมครั้งนี้