FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในการประชุมเดือนหน้า เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดมีแนวโน้ม 100% ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25-0.50% ในการประชุมวันที่ 17-18 มี.ค. โดยมีแนวโน้ม 58.3% ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% จากระดับ 1.50-1.75% สู่ระดับ 1.00-1.25% และมีแนวโน้ม 41.7% ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 1.25-1.50%
นอกจากนี้ นักลงทุนยังคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ของปีนี้ในเดือนมิ.ย. และครั้งที่ 3 ในเดือนก.ย.
นายเควิน วอร์ช อดีตผู้ว่าการเฟด กล่าวว่า เขาคาดหวังว่าเฟดจะจับมือกับธนาคารกลางทั่วโลกเพื่อออกมาตรการรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
นายวอร์ชแนะนำให้เฟดดำเนินการอย่างรวดเร็วในวันอาทิตย์นี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน ก่อนที่ตลาดหุ้นเอเชียจะเปิดทำการในวันจันทร์
นายวอร์ชกล่าวว่า ขณะนี้เฟดไม่มีกระสุนมากนักในการช่วยตลาดและเศรษฐกิจ ดังนั้น เฟดจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วพร้อมกับธนาคารกลางชั้นนำของโลก เช่น ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางจีน และธนาคารกลางญี่ปุ่น
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่เฟดหลายรายได้กล่าวแสดงความเห็นในเชิงระมัดระวัง โดยระบุว่า เฟดกำลังจับตาสถานการณ์ แต่เฟดมองว่าขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งนายวอร์ชกล่าวว่า ท่าทีของเฟดดังกล่าวถือเป็นการรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่ถูกต้อง
"ผมมีความเห็นว่า ถ้าหากเฟดมัวแต่รอให้ข้อมูลมีความชัดเจน ก็จะสร้างความเสียหายเกินความจำเป็น" นายวอร์ชกล่าว
ทางด้าน S&P Dow Jones Indices ซึ่งเป็นบริษัทผู้นำในการจัดตั้งดัชนีอ้างอิงในตลาดการเงินโลก เปิดเผยว่า มูลค่าตลาดของตลาดหุ้นทั่วโลกหายไปถึง 6 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 6 วันที่ผ่านมา อันเนื่องจากไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นหลายแห่งได้ทรุดตัวลงเข้าสู่โซนปรับฐาน ขณะที่นักลงทุนวิตกว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
นายโฮเวิร์ด ซิลเวอร์แบล็ตต์ นักวิเคราะห์จาก S&P กล่าวว่า มูลค่าตลาดของตลาดหุ้นสหรัฐหายไปถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 6 วันดังกล่าว โดยดัชนีดาวโจนส์, S&P 500 และ Nasdaq ต่างเข้าสู่โซนปรับฐาน โดยได้ดิ่งลง 10% จากระดับสูงสุดที่ได้ทำไว้
ดัชนีดาวโจนส์ทรุดตัวลงมากกว่า 3,200 จุดในสัปดาห์นี้ ขณะที่ดัชนี S&P 500 ร่วงลง 10.8% และมีแนวโน้มปรับตัวย่ำแย่ที่สุดในสัปดาห์นี้นับตั้งแต่ช่วงวิกฤตการเงิน
"ขณะนี้ความกังวลใหญ่ที่สุดของเราก็คือผู้บริโภคจะเริ่มลดการใช้จ่าย เนื่องจากการใช้จ่ายดังกล่าวได้เป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา และช่วยชดเชยการใช้จ่ายในภาคธุรกิจที่น่าผิดหวัง" นายซิลเวอร์แบล็ตต์กล่าว