เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกมาเตือนว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการชัตดาวน์เศรษฐกิจสหรัฐบางส่วนนั้น อาจทำให้ธุรกิจต่างๆ ประสบกับภาวะล้มละลายครั้งใหญ่ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบอย่างยาวนานต่อเศรษฐกิจสหรัฐ
นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ระบุในการกล่าวสุนทรพจน์ในวันอังคาร (12 พ.ค.) ว่า ธุรกิจต่างๆ จะประสบกับภาวะล้มละลายครั้งใหญ่ และมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หากการชัตดาวน์เศรษฐกิจยังคงดำเนินต่อไป
ทางด้านนายนีล แคชคารี ประธานเฟดสาขามินนีอาโปลีสเตือนว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากผลกระทบของการโรคระบาด ขณะที่นายโรเบิร์ต แคปแลน ประธานเฟดสาขาดัลลัสกล่าวว่า เศรษฐกิจจะต้องได้รับการกระตุ้นด้านการคลังมากขึ้น หากอัตราการว่างงานยังคงเพิ่มขึ้น
เฟดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงใกล้ระดับ 0% ในช่วงกลางเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา และได้ออกโครงการปล่อยเงินกู้เพื่อรองรับผลกระทบที่เกิดจากโรคระบาด
นายบูลลาร์ดเตือนว่า ผลผลิตทางเศรษฐกิจอาจร่วงลงราว 40% ในไตรมาส 2/2563 หากรัฐบาลยังคงสั่งให้ธุรกิจต่างๆ ปิดการดำเนินงานต่อไป โดยเขากล่าวในที่ประชุม Official Monetary and Financial Institutions Forum ว่า การชัตดาวน์เศรษฐกิจมีความเหมาะสมในช่วงแรกของการรับมือกับวิกฤตโรคระบาด แต่ในขณะนี้จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ โดยธุรกิจจำนวนมากจะประสบกับภาวะล้มละลายและจะสร้างความเสียหายที่ยาวนาน หากธุรกิจต่างๆ ไม่สามารถเริ่มการดำเนินงานได้
ด้านนายแคชคารีกล่าวว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า โดยผู้บริโภคและภาคธุรกิจจะยังคงได้รับผลกระทบจากความวิตกเกี่ยวกับโรคระบาด ขณะเดียวกันเขากล่าวว่า สหรัฐจะไม่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้จนกว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ และเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าเพื่อกลับสู่ภาวะปกติ
ทั้งนี้ ประธานเฟดทั้ง 3 คนดังกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า เฟดไม่มีแนวโน้มที่ใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบเป็นเครื่องมือในการจัดการกับภาวะเศรษฐกิจในเร็วๆ นี้ ขณะที่นายบูลลาร์ดระบุว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะใช้การซื้อสินทรัพย์เป็นเครื่องมือในการจัดการกับภาวะเศรษฐกิจมากกว่า
ส่วนนายแคปแลนเปิดเผยกับซีเอ็นเอ็น อินเตอร์เนชันแนลว่า หากสหรัฐมีอัตราการว่างงานสูงสุดแตะระดับประมาณ 20% ตามที่เฟดคาดไว้ และหากอัตราการว่างงานแตะระดับประมาณ 10% ภายในสิ้นปี รัฐบาลสหรัฐก็จำเป็นจะต้องออกมาตรการกระตุ้นด้านการคลังเพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ