รัฐมนตรีคลังจากกลุ่มประเทศ G20 ได้ให้การสนับสนุนข้อตกลงการกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลกที่ระดับ 15% รวมทั้งกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ พร้อมกับให้คำมั่นว่าจะใช้มาตรการตามความจำเป็นเพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ท่ามกลางภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน อันเนื่องมาจากแพร่ระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ G20 ได้ให้การรับรองข้อตกลงดังกล่าว หลังจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) แถลงเมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า OECD สามารถบรรลุข้อตกลงครั้งใหญ่ในการกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลกที่ระดับ 15%โดยข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในปี 2566 และจะไม่มีการปรับเพิ่มอัตราภาษีขึ้นจากระดับ 15% ในภายหลัง รวมทั้งจะไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดเล็ก
"ข้อตกลงฉบับประวัติศาสตร์ที่ได้รับความเห็นชอบจากประเทศและเขตปกครองจำนวน 136 แห่ง ซึ่งมีมูลค่าเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 90% ของ GDP ทั่วโลก จะช่วยจัดสรรกำไรมากกว่า 1.25 แสนล้านดอลลาร์จากบริษัทข้ามชาติจำนวนราว 100 แห่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีกำไรมากที่สุด เพื่อรับประกันว่าบริษัทเหล่านี้จะจ่ายภาษีอย่างเหมาะสมไม่ว่าพวกเขาจะดำเนินธุรกิจหรือมีกำไรจากที่ไหน" แถลงการณ์ของ OECD ระบุ
นอกจากนี้ รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่ม G20 ได้ยืนยันในแถลงการณ์ร่วมภายหลังการประชุมที่กรุงวอชิงตันวานนี้ว่า "การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลกยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกลุ่ม G20 จะพยายามรักษาระดับการฟื้นตัวนี้ไว้ด้วยการหลีกเลี่ยงการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนเวลาอันควร"
อย่างไรก็ดี แถลงการณ์ระบุว่า "ธนาคารกลางในกลุ่ม G20 กำลังติดตามพลวัตของราคาสินค้าผู้บริโภคในปัจจุบันอย่างใกล้ชิด และจะใช้มาตรการตามความจำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคา"
ทั้งนี้ การประชุม G20 จัดขึ้นที่กรุงวอชิงตันนอกรอบการประชุมประจำปีในฤดูใบไม้ร่วงของคณะกรรมการบริหารของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก โดยข้อตกลงของกลุ่มจะรายงานในการประชุมสุดยอด G20 ในปลายเดือนนี้ที่กรุงโรม