นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันนี้ โดยคาดว่าเฟดจะปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมครั้งนี้
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ในแถลงการณ์หลังการประชุมวันนี้ เฟดจะประกาศปรับลดวงเงิน QE เดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพ.ย. ซึ่งจะทำให้เฟดยุติการทำ QE โดยสิ้นเชิงในกลางปี 2565
ที่ผ่านมา เฟดทำ QE อย่างน้อย 120,000 ล้านดอลลาร์/เดือน โดยเฟดซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 80,000 ล้านดอลลาร์/เดือน และซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ในวงเงิน 40,000 ล้านดอลลาร์/เดือน
ก่อนหน้านี้ ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทดิ่งลงอย่างหนักในปี 2556 หลังจากที่นายเบน เบอร์นันเก้ ซึ่งเป็นประธานเฟดในขณะนั้น ประกาศปรับลดวงเงิน QE โดยไม่มีการส่งสัญญาณล่วงหน้า ทำให้นักลงทุนเกิดความตื่นตระหนก และพากันเทขายหุ้นในตลาด
อย่างไรก็ดี คาดว่าการซื้อขายในตลาดจะเป็นไปอย่างราบรื่นในวันนี้ แม้ว่าเฟดประกาศปรับลดวงเงิน QE ก็ตาม เนื่องจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดของนายเบอร์นันเก้ ทำให้นายพาวเวลส่งสัญญาณต่อตลาดอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เพื่อให้นักลงทุนเตรียมพร้อมสำหรับการถอนมาตรการผ่อนคลายทางการเงินแบบพิเศษของเฟด โดยเฟดจะกลับไปใช้นโยบายการเงินแบบปกติด้วยการยุติมาตรการ QE และตามมาด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
นอกจากนี้ หากเฟดสามารถเปลี่ยนผ่านนโยบายการเงินได้อย่างราบรื่น ก็จะเป็นปัจจัยหนุนให้นายพาวเวลได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานเฟดอีกสมัยหนึ่ง ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนกำลังพิจารณาเรื่องดังกล่าว ก่อนที่นายพาวเวลจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปีในเดือนก.พ.2565
ขณะเดียวกัน นักลงทุนเพิ่มการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในกลางปีหน้า หลังจากที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นในเดือนก.ย.
FedWatch Tool ของ CME Group ซึ่งวิเคราะห์การซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐ พบว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดมีแนวโน้ม 50% ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนมิ.ย.2565 เทียบกับตัวเลขคาดการณ์เพียง 15% ก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE ทั่วไปพุ่งขึ้น 4.4% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2534
ดัชนี PCE ได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของราคาอาหารและพลังงาน
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนส.ค.
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 3.6% ในเดือนก.ย. สอดคล้องกับเดือนส.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ