นายเพอร์รี วาร์จิโย ผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซีย กล่าวว่า การที่ธนาคารกลางมีแผนที่จะปรับเพิ่มสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) อย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้น จะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออัตราดอกเบี้ยในตลาด
นายเพอร์รีกล่าวว่า สิ่งนี้ไม่ควรถูกตีความว่าธนาคารกลางกำลังคุมเข้มนโยบายการเงิน แต่เป็นการปรับนโยบายกลับสู่ภาวะปกติ
นอกจากนี้ นายเพอร์รีระบุว่า ธนาคารกลางจะดูแลสภาพคล่องในระบบให้อยู่สูงกว่าในช่วงก่อนเกิดโควิด-19
ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางอินโดนีเซียออกแถลงการณ์ในวันนี้ ระบุว่า ธนาคารกลางได้ถูกแฮกเกอร์โจมตีโดยใช้ ransomware แต่ความเสี่ยงจากการโจมตีดังกล่าวมีไม่มากนัก และไม่กระทบต่อระบบการให้บริการของทางธนาคาร
"เราถูกโจมตี แต่ไม่ได้มีผลกระทบมากนัก เนื่องจากเรามีการใช้มาตรการป้องกันล่วงหน้า และที่สำคัญที่สุดคือการให้บริการสาธารณะของธนาคารกลางอินโดนีเซียไม่ได้ถูกกระทบแต่อย่างใด" นายเออร์วิน ฮาร์โยโน โฆษกธนาคารกลางอินโดนีเซีย กล่าว
นายเออร์วินกล่าวเสริมว่า การโจมตีดังกล่าวเกิดขึ้นในเดือนธ.ค.2564 และธนาคารกลางได้ทำการกู้ระบบเรียบร้อยแล้ว
DarkTracer ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มตรวจจับความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติในระบบออนไลน์ เปิดเผยว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซียอยู่ในรายชื่อเป้าหมายของกลุ่มอาชญากรไซเบอร์ที่ใช้ซอฟท์แวร์ที่เรียกว่า Conti ในการโจมตีระบบ
DarkTracer ระบุว่า แฮกเกอร์ดังกล่าวจะใช้ซอฟท์แวร์ Conti เข้าโจมตีระบบของเหยื่อ ทำให้ระบบถูกเข้ารหัส และเพื่อแลกกับการถอดรหัส เหยื่อจะต้องจ่ายค่าไถ่เป็นเงินสกุลคริปโทมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ ซึ่งหากขัดขืน แฮกเกอร์ก็จะขู่เปิดเผยข้อมูลลับในระบบเพื่อกดดันให้เหยื่อจ่ายเงินค่าไถ่
ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางอินโดนีเซียเคยถูกแฮกเกอร์โจมตีด้วยวิธี DDoS (Distributed Denial of Service) ในปี 2559 แต่เจ้าหน้าที่ระบุว่าไม่มีการสูญเสียเงินจากการโจมตีดังกล่าว