ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานสรุปมุมมองเศรษฐกิจ (Summary of Opinions) จากการประชุมประจำเดือนม.ค. โดยระบุว่า กรรมการ BOJ คาดการณ์ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญของญี่ปุ่น จะดีดตัวขึ้นสู่เป้าหมายของ BOJ ที่ระดับ 2% และเชื่อว่าแนวโน้มดังกล่าวจะยังคงดำเนินต่อไปหากค่าจ้างยังคงมีการขยายตัว
อย่างไรก็ดี กรรมการบางส่วนของ BOJ มองว่าควรจะดำเนินนโยบายการเงินเชิงรุกต่อไป ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้บดบังกระแสคาดการณ์ที่ว่า BOJ อาจจะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่วางแผนจะปรับนโยบายการเงินให้กลับสู่ภาวะปกติเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจซึ่งเปิดเผยหลังเสร็จสิ้นการประชุมในวันที่ 18 ม.ค.ระบุว่า BOJ ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อประจำปีงบประมาณ 2565 ขึ้นสู่ระดับ 1.1% จากเดิมที่ระดับ 0.9% เนื่องจากราคาพลังงานและวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่เงินเยนอ่อนค่าลง
นอกจากนี้ BOJ ได้ปรับเพิ่มแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2565 ขึ้นสู่ระดับ 3.8% จากเดิมที่ระดับ 2.9% โดยระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจถือเป็น "หลักฐาน" ที่พิสูจน์ว่าผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มลดน้อยลง
ทางด้านนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ แถลงภายหลังการประชุมในวันดังกล่าวว่า เขาไม่คิดว่า BOJ มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินในปัจจุบันหรือหารือเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเชื่อว่า การพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น
"เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เกิดจากการใช้จ่ายผู้บริโภค จะพุ่งขึ้นใกล้แตะเป้าหมายของ BOJ ที่ระดับ 2% ขณะนี้เรายังไม่คิดถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายซึ่งเราใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยเราไม่มีการอภิปรายกันในเรื่องเหล่านี้" นายคุโรดะกล่าว
"อัตราเงินเฟ้อที่เกิดจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะยังคงอยู่ที่ราว 1% ดังนั้น BOJ จึงไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในขณะนี้ ส่วนในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น ญี่ปุ่นเผชิญแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สูงมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ" นายคุโรดะกล่าว