นักลงทุนเพิ่มการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนพ.ค. หลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในวันนี้ รวมทั้งการแสดงความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 68.3% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุมวันที่ 3-4 พ.ค. เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ระดับ 32.9% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยระบุว่า อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเกินไป ซึ่งหากจำเป็น เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ในการประชุมหนึ่งครั้งหรือหลายครั้ง
นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในผู้ว่าการเฟด กล่าวว่า เฟดอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% จำนวน 1 ครั้งหรือมากกว่านั้นในปีนี้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ความเห็นของนายวอลเลอร์สอดคล้องกับนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ ซึ่งกล่าวว่า เฟดควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 12 ครั้งในปีนี้ เพื่อแสดงว่าเฟดมีความจริงจังในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ โดยเงินเฟ้อที่พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีกำลังส่งผลกระทบต่อประชาชน
นายบูลลาร์ดกล่าวว่า เขาต้องการให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้อยู่สูงกว่า 3% จากระดับใกล้ 0% ในขณะนี้
ก่อนหน้านี้ นายบูลลาร์ดเป็นเจ้าหน้าที่เฟดเพียงรายเดียวที่ลงมติให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนนี้ ขณะที่เฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 0.25-0.50% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2561
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 28,000 ราย สู่ระดับ 187,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2512 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 212,000 ราย
นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวต่ำกว่าระดับ 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ
ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 67,000 ราย สู่ระดับ 1.35 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2513
เอส แอนด์ พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 58.5 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2564 จากระดับ 55.9 ในเดือนก.พ.
ดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว โดยได้แรงหนุนจากการผ่อนคลายภาวะคอขวดของห่วงโซ่อุปทาน และการฟื้นตัวของอุปสงค์ ขณะที่คำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงานดีดตัวขึ้น
อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับตัวลงในเดือนมี.ค. โดยได้รับผลกระทบจากการที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนสินค้าพุ่งสูงขึ้น
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น อยู่ที่ 58.5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน จากระดับ 57.3 ในเดือนก.พ.
สำหรับดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น อยู่ที่ 58.9 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน จากระดับ 56.5 ในเดือนก.พ.