นางเทศตรี ทมยันตี รองผู้ว่าการอาวุโสของธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) เปิดเผยในวันนี้ (22 เม.ย.) ว่า BI อาจเพิ่มสัดส่วนการกันเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) เพิ่มเติม หากเงินเฟ้อเริ่มปรับตัวขึ้น ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นจะเป็นทางเลือกสุดท้าย
ทั้งนี้ BI ได้เริ่มลดมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินเป็นพิเศษบางมาตรการที่ใช้ในช่วงที่การเกิดโรคระบาด โดยได้ประกาศปรับเพิ่ม RRR รวมทั้งสิ้น 3.00% ในระหว่างเดือนมี.ค.-ก.ย.
"หากมีความจำเป็น, หากสภาพคล่องยังคงเพียงพอ และเงินเฟ้อเริ่มปรับตัวขึ้น เราอาจเพิ่ม RRR อีกครั้ง" นางเทศตรีกล่าว พร้อมเสริมว่า BI จะดำเนินการด้วยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้การคุมเข้มทางการเงินส่งผลกระทบต่อความสามารถในการปล่อยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์
ความเห็นของนางเทศตรีมีขึ้น ในขณะที่มีการคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้นในอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้อัตราเงินเฟ้อที่ 2.64% ในเดือนมี.ค.จะยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายของ BI ระหว่าง 2-4%
ก่อนหน้านี้ BI เปิดเผยว่า เงินเฟ้อควรเคลื่อนไหวอยู่ภายในกรอบเป้าหมายในปีนี้ แต่แผนการของรัฐบาลในการปรับเปลี่ยนราคาพลังงานที่ได้รับการอุดหนุน อาจเป็นความเสี่ยงขาขึ้นสำหรับเงินเฟ้อ
นางเทศตรี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่มีอาวุโสสูงสุดเป็นอันดับสองของ BI ระบุว่า BI คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อและภาวะชะงักงันทางการค้าจากสงครามอันยืดเยื้อในยูเครนจะเป็นปัญหาสำคัญที่สุดสำหรับเศรษฐกิจอินโดนีเซียในระยะสั้น
อย่างไรก็ดี นางเทศตรีกล่าวว่า BI พร้อมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรโดยมีสัญญาขายคืน (reverse repurchase rate) ระยะเวลา 7 วัน หากมีความจำเป็น