ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงินประจำเดือนก.ค.ในวันนี้ โดยระบุว่า กรรมการ BOJ มีความเห็นตรงกันว่า BOJ จะต้องดำเนินการตรวจสอบว่า การร่วงลงอย่างหนักของเงินเยนในช่วงที่ผ่านมานั้น จะส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้ออย่างไร
กรรมการรายหนึ่งของ BOJ กล่าวว่า แรงกดดันช่วงขาลงของเงินเยนอาจจะบรรเทาลง เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มที่จะถ่วงเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยระยะยาวทั่วโลก
"หากเศรษฐกิจโลกเผชิญกับภาวะวิกฤต ก็มีโอกาสที่แนวโน้มเงินเยนซึ่งอ่อนค่าลงในปัจจุบันนั้น อาจจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางที่แข็งค่าขึ้น" กรรมการ BOJ กล่าว
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า BOJ ได้คาดการณ์ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารสดนั้น อาจจะปรับตัวขึ้นในปีนี้ แต่อัตราการปรับขึ้นจะชะลอตัวลงตามทิศทางราคาพลังงาน
ทั้งนี้ ในการประชุมเมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการ BOJ มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (Ultraeasy Monetary Policy) พร้อมกับปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้ เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานพุ่งขึ้นและเงินเยนอ่อนค่าลง
คณะกรรมการ BOJ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.1% และคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ประมาณ 0% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ในการประชุมวันดังกล่าว คณะกรรมการ BOJ ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อของปีงบประมาณ 2565 โดยระบุว่า ดัชนี CPI พื้นฐานจะขยายตัว 2.3% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 1.9%
นอกจากนี้ BOJ ยังได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2565 ลงสู่ระดับ 2.4% จากเดิมที่ 2.9% เนื่องจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน ยังคงเป็นปัจจัยฉุดเศรษฐกิจ