นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) จะใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินในเดือนนี้ เป็นครั้งที่ 5 ติดต่อกัน ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อในสิงคโปร์ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง อันเนื่องมาจากปัญหาติดขัดของห่วงโซ่อุปทาน และภาวะตลาดแรงงานตึงตัว
ที่ผ่านมานั้น MAS รับมือกับเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นด้วยการกำหนดกรอบสกุลเงินดอลลาร์สิงคโปร์ให้สูงขึ้น เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินที่ประกอบด้วยสกุลเงินของคู่ค้าสำคัญของสิงคโปร์ โดยแตกต่างไปจากธนาคารกลางส่วนใหญ่ที่ใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ โดยปกติแล้ว MAS จะปรับนโยบายการเงินผ่านการกำหนดกรอบอัตราแลกเปลี่ยน 3 ด้านด้วยกันซึ่งได้แก่ ความชัน (Slope), ค่ากลาง (Mid-Point) และความกว้าง (Width) ของกรอบอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนด (Policy Band) หรือที่เรียกว่า Nominal Effective Exchange Rate (NEER)
นักวิเคราะห์มีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับขนาดของการใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินของ MAS โดยนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งคาดว่า MAS จะปรับเพิ่มค่ากลางของกรอบอัตราแลกเปลี่ยน โดยจะคงความชันและความกว้างเอาไว้ ขณะที่นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งคาดการณ์ว่า MAS จะปรับเพียงความชันของกรอบอัตราแลกเปลี่ยน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า โดยทั่วไปแล้ว MAS จะใช้วิธีการปรับค่ากลางของกรอบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือเชิงรุกมากกว่าการปรับความชัน และใช้การปรับความกว้างของกรอบอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อจำกัดความผันผวนของสกุลเงินดอลลาร์สิงคโปร์