กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า การที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการเงินด้วยการประกาศขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในการประชุมครั้งล่าสุดนั้น เป็นการตัดสินใจที่มีเหตุผล แต่คณะกรรมการ BOJ จำเป็นต้องสื่อสารเรื่องการปรับเปลี่ยนนโยบายในครั้งนี้ให้ตลาดเข้าใจอย่างชัดเจน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า BOJ ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับตลาดในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันอังคาร (20 ธ.ค.) ด้วยการประกาศขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลญี่ปุ่นให้เคลื่อนไหวในช่วง -0.5% ถึง +0.5% จากเดิมที่อยู่ในกรอบ -0.25% ถึง +0.25% ซึ่งทำให้นักลงทุนมองว่า BOJ กำลังส่งสัญญาณเริ่มใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน หลังจากที่คงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (Ultra-loose Monetary Policy) มาเป็นเวลานาน
นายรานิล ซาลกาโด หัวหน้าฝ่ายกิจการญี่ปุ่นของ IMF กล่าวในวันพุธ (21 ธ.ค.) ว่า การตัดสินใจดังกล่าวของ BOJ นับว่ามีเหตุผล เมื่อพิจารณาจากการที่ BOJ มีความกังวลเกี่ยวกับกลไกตลาด รวมทั้งความไม่แน่นอนของภาวะเงินเฟ้อ แต่การสื่อสารกับตลาดให้ชัดเจนมากขึ้นในเรื่องนี้จะช่วยลดกระแสคาดการณ์ในตลาด และจะทำให้ความมุ่งมั่นของ BOJ ที่จะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อนั้นมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น"
นักวิเคราะห์หลายราย ซึ่งรวมถึงนายมาซามิชิ อาดาชิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นจากบริษัทยูบีเอส ซิเคียวริตีส์กล่าวว่า การที่นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ สร้างปรากฏการณ์ช็อกตลาดด้วยการขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรนั้น เป็นการส่งสัญญาณให้นักลงทุนทราบว่า BOJ มีแผนที่จะยุติการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ
"เรามองว่า การดำเนินการของ BOJ ในการประชุมครั้งนี้ถือเป็นย่างก้าวที่จะนำไปสู่การถอนนโยบายผ่อนคลายการเงิน ไม่ว่า BOJ จะเรียกมันว่าอะไรก็ตาม และนี่จะเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2566 ภายใต้การนำของผู้ว่าการ BOJ คนใหม่" นายอาดาชิกล่าว
ทั้งนี้ นายคุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ คนปัจจุบัน จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนเม.ย.ปีหน้า