ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานสรุปมุมมองเศรษฐกิจ (Summary of Opinions) จากการประชุมประจำเดือนธ.ค. โดยระบุว่า กรรมการ BOJ ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นของการตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นพิเศษ (Ultra-low Interest Rates) แต่ได้มีการหารือกันถึงความเป็นไปได้ที่ว่า ค่าจ้างที่สูงขึ้นอาจจะช่วยขจัดความเสี่ยงที่ญี่ปุ่นจะกลับไปเผชิญกับภาวะเงินฝืด
ในการประชุมเมื่อวันที่ 19-20 ธ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการ BOJ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% แต่ BOJ ได้สร้างปรากฏการณ์ช็อกตลาดด้วยการประกาศขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลญี่ปุ่นให้เคลื่อนไหวในช่วง -0.5% ถึง +0.5% จากเดิมที่อยู่ในกรอบ -0.25% ถึง +0.25% ซึ่งตลาดตีความว่าเป็นการส่งสัญญาณเริ่มใช้นโยบายคุมเข้มการเงิน หลังจากที่ BOJ รักษาจุดยืนในการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษมาเป็นเวลานาน
รายงานสรุปมุมมองเศรษฐกิจซึ่งมีการเผยแพร่ในวันนี้ระบุว่า กรรมการหลายคนจากทั้งหมด 9 คนของ BOJ มองว่า การตัดสินใจดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะทำให้โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในปัจจุบันมีความยืดหยุ่นมากขึ้นด้วยการแก้ไขผลข้างเคียงที่เกิดจากการดำเนินนโยบายการเงินของ BOJ และไม่ใช่ย่างก้าวแรกของการยุตินโยบายผ่อนคลายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (Ultra-loose Monetary Policy)
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจดังกล่าวของคณะกรรมการ BOJ ถูกมองว่าเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจะปูทางไปสู่การถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อนที่นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ สายพิราบจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนเม.ย.ปีหน้า
รายงานยังระบุด้วยว่า กรรมการ BOJ บางคนกล่าวว่า ญี่ปุ่นยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ได้อย่างยั่งยืน ในขณะที่อีกหลายคนมองว่า มีสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นว่าบริษัทญี่ปุ่นจะเปลี่ยนแปลงนโยบายที่เคยใช้มาเป็นเวลานานไปสู่การปรับขึ้นค่าจ้างและราคา
"ราคากำลังปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงแต่ราคาสินค้าเท่านั้น แต่รวมถึงค่าบริการด้วย ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงมากที่ญี่ปุ่นจะเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ" กรรมการ BOJ รายหนึ่งกล่าว