ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) เพิ่มปริมาณทองคำสำรองประมาณ 30% ในเดือนม.ค. เช่นเดียวกับธนาคารกลางของประเทศอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงธนาคารกลางจีนและตุรกีที่ต่างพากันเพิ่มทองคำสำรอง
โฆษกธนาคารกลางสิงคโปร์ กล่าวว่า ปริมาณทองคำสำรองของธนาคารกลางสิงคโปร์ ณ สิ้นเดือนม.ค.อยู่ที่ 6.4 ล้านออนซ์ หรือ 199 ตัน เพิ่มขึ้นจากปริมาณ 4.9 ล้านยออนซ์ในเดือนธ.ค. 2565 และมูลค่าของทองคำสำรองอยู่ที่ 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนม.ค.
นายโรนัน แมนลี นักวิเคราะห์โลหะมีค่าจากบูลเลี่ยนสตาร์ (BullionStar) บริษัทผู้ค้าทองคำในสิงคโปร์ กล่าวว่า "นี่เป็นการซื้อทองคำในปริมาณมากที่สุดเป็นอันดับสองภายในหนึ่งเดือนของธนาคารสิงคโปร์ โดยครั้งที่มากที่สุดคือเมื่อครั้งที่ธนาคารกลางสิงคโปร์ซื้อทองคำ 100 ตันจากแอฟริกาใต้ เมื่อปี 2511"
ทั้งนี้ ธนาคารกลางทั่วโลกได้เพิ่มการถือครองทองคำแท่งมากขึ้น เนื่องจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทางด้านผู้ซื้อรายย่อยก็ได้ซื้อทองคำเพิ่มขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์และอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารกลางจีนเพิ่มปริมาณทองคำสำรองติดต่อกัน 4 เดือน ณ เดือนก.พ. ขณะที่ธนาคารกลางตุรกีซื้อทองคำมากที่สุดในบรรดาธนาคารกลางต่าง ๆ ในปี 2565
ข้อมูลจากสภาทองคำโลก (WGC) ระบุว่า ธนาคารกลางทั่วโลกซื้อทองคำเป็นทุนสำรองในปี 2565 รวมกันมากถึง 1,136 ตัน คิดเป็นมูลค่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นมูลค่าสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2510 คริสชัน โกพอล นักวิเคราะห์ของ WGC กล่าวว่า ธนาคารทั่วโลกต่างก็หันมาสำรองทองคำ เพราะเชื่อว่าทองคำจะยังคงมีมูลค่าท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก นอกจากนี้ ทองคำยังช่วยให้ธนาคารกลางสามารถกระจายความเสี่ยงที่นอกเหนือไปจากสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและดอลลาร์