"ผมหวังว่า ECB จะไม่ซ้ำรอยความผิดพลาดในปี 2554 ที่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขณะที่ยูโรโซนเกิดปัญหาหนี้สาธารณะในขณะนั้น จนทำให้เกิดวิกฤตความเชื่อมั่นต่อระบบธนาคารยุโรป" ข้อความในทวิตเตอร์ระบุ
ในการประชุมครั้งล่าสุดในเดือนก.พ. ECB มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% พร้อมกับส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดยระบุอย่างชัดเจนว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุมเดือนมี.ค.
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์กล่าวว่า ภาวะผันผวนในตลาดขณะนี้ ท่ามกลางวิกฤตการณ์ในภาคธนาคาร ส่งผลให้ ECB อาจจะต้องทบทวนการตัดสินใจเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในคืนนี้
"แม้ตัวเลขเงินเฟ้อในระยะนี้เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ ECB ขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนนี้ แต่ความปั่นป่วนที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดการเงินก็กำลังทำให้มีการมองว่า ECB อาจจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเลยในการประชุมครั้งนี้" นายฟรานเซสโก เปโซล นักวิเคราะห์จาก ING กล่าว
"ถ้า ECB ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ขณะที่ตลาดเริ่มคลายความกังวลต่อวิกฤตธนาคาร หลังจากที่ธนาคารกลางสวิสประกาศอัดฉีดสภาพคล่องแก่เครดิต สวิส ก็จะเป็นการแสดงว่า ECB มีความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินในยูโรโซน และจะช่วยให้ยูโรแข็งค่าขึ้น"
"แต่หาก ECB ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ระบบธนาคารยุโรปยังคงมีความเปราะบาง สิ่งนี้ก็จะทำให้ยูโรร่วงลงเทียบดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนมองว่าสิ่งนี้จะเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินยุโรป" นายเปโซลกล่าว
ทั้งนี้ ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ และสำนักงานกำกับดูแลตลาดการเงินสวิตเซอร์แลนด์ ให้คำมั่นว่าจะจัดหาสภาพคล่องเพื่อช่วยเหลือเครดิต สวิส หากมีความจำเป็น และยืนยันว่า เครดิต สวิส มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ด้านเงินทุนและสภาพคล่องที่มีการกำหนดไว้สำหรับธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบ หลังจากที่เครดิต สวิสประกาศขอกู้ยืมเงินจากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์จำนวน 5 หมื่นล้านฟรังก์สวิส ภายใต้โครงการจัดหาเงินกู้แบบครอบคลุมและการจัดหาสภาพคล่องในระยะสั้น
หุ้นเครดิต สวิส ดิ่งสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ก่อนหน้านี้ หลังธนาคารซาอุดี เนชั่นแนล แบงก์ (Saudi National Bank) หรือ SNB ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของเครดิต สวิส ประกาศว่า SNB ไม่สามารถเพิ่มความช่วยเหลือทางการเงินต่อเครดิต สวิส เนื่องจากจะทำให้ SNB ถือหุ้นในเครดิต สวิสมากกว่า 10% ซึ่งจะเป็นการทำผิดกฎระเบียบธนาคาร
เครดิต สวิสเปิดเผยว่า ธนาคารขาดทุนสุทธิ 1.4 พันล้านฟรังก์สวิสในไตรมาส 4/2565 โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.32 พันล้านฟรังก์สวิส ส่งผลให้ยอดขาดทุนตลอดทั้งปีอยู่ที่ 7.3 พันล้านฟรังก์สวิส นอกจากนี้ ลูกค้าแห่ถอนเงินฝากมากกว่า 1.10 แสนล้านฟรังก์สวิสในไตรมาส 4/2565 ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับข่าวอื้อฉาวของธนาคารในการทำผิดกฎระเบียบ และความเสี่ยงในการถูกดำเนินคดี