ธนาคารกลางสิงคโปร์มีมติคงนโยบายการเงินในวันนี้ ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าธนาคารกลางจะเดินหน้าใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน โดยการตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นหลังจากสิงคโปร์เปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่อ่อนแอในไตรมาส 1/2566
โดยปกติแล้ว ธนาคารกลางสิงคโปร์จะดำเนินนโยบายการเงินผ่านการกำหนดกรอบอัตราแลกเปลี่ยน 3 ด้านด้วยกันซึ่งได้แก่ ความชัน (Slope), ค่ากลาง (Mid-Point) และความกว้าง (Width) ของกรอบอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนด (Policy Band) หรือที่เรียกว่า Nominal Effective Exchange Rate (NEER) ส่วนการดำเนินการในวันนี้ ธนาคารกลางได้ตัดสินใจคงความชัน, ค่ากลาง และความกว้างของกรอบอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้ที่ระดับเดิม
ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสิงคโปร์จะปรับกรอบอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความชันมากขึ้น ขณะที่นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งคาดว่าธนาคารกลางจะทำการปรับค่ากลาง (Re-centre the Mid-Point) ของกรอบอัตราแลกเปลี่ยนให้สูงขึ้น ซึ่งตามหลักการแล้ว การปรับค่ากลางของกรอบอัตราแลกเปลี่ยน ถือเป็นการดำเนินนโยบายการเงินในระดับที่คุมเข้มมากกว่าการปรับค่าความชัน
ธนาคารกลางสิงคโปร์ระบุในแถลงการณ์ว่า "เมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งตัวเลข GDP ของสิงคโปร์ที่อ่อนแอลงในไตรมาส 1 ปีนี้ ธนาคารกลางเห็นสมควรที่จะคงนโยบายการเงินในการประชุมวันนี้ หลังจากที่ดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินติดต่อกันในการประชุม 5 ครั้งนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2564 โดยธนาคารกลางเชื่อว่า การใช้นโยบายคุมเข้มหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมานั้นจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้"
ทั้งนี้ การตัดสินใจคงนโยบายการเงินของธนาคารกลางสิงคโปร์ มีขึ้นไม่นานหลังจากกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ (MTI) เปิดเผยในวันนี้ว่า ตัวเลข GDP ขยายตัวเพียง 0.1% ในไตรมาส 1/2566 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงอย่างมากจากไตรมาส 4/2565 ที่มีการขยายตัว 2.1%
เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ตัวเลข GDP ไตรมาส 1 หดตัวลง 0.7% หลังจากที่มีการขยายตัว 0.1% ในไตรมาส 4/2565