ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมในวันพุธ (16 ส.ค.) โดยระบุว่า กรรมการเฟดมีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับความจำเป็นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในอนาคต โดยกรรมการเฟดส่วนหนึ่งได้แสดงความกังวลว่าการที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากเกินไปนั้นอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญกับความเสี่ยง แม้ว่ากรรมการเฟดส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับการควบคุมเงินเฟ้อ โดยกล่าวว่าแม้เงินเฟ้อเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง แต่ก็ยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%
"กรรมการเฟดยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะฉุดอัตราเงินเฟ้อให้ลดลงสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% โดยกรรมการส่วนใหญ่ยังคงเล็งเห็นถึงความเสี่ยงขาขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้อ ซึ่งอาจทำให้เฟดจำเป็นต้องดำเนินนโบายคุมเข้มด้านการเงินต่อไป" เฟดระบุในรายงานการประชุม
ในการประชุมเมื่อวันที่ 25-26 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น คณะกรรมการเฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 11 นับตั้งแต่เฟดเริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. 2565 ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 5.25%
รายงานการประชุมระบุว่า ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการเดินหน้าใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน ถือเป็นหัวข้อสำคัญที่กรรมการเฟดอภิปรายกันในการประชุมเดือนก.ค. ซึ่งบ่งชี้ว่ากรรมการเฟดมีความเห็นที่แตกต่างกันในขณะที่พิจารณาถึงหลักฐานที่ว่าเงินเฟ้อกำลังชะลอตัวลง และความเป็นไปได้ว่าการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจจะได้รับผลกระทบ หากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงเกินความจำเป็น
นอกจากนี้ กรรมการเฟดยังได้หารือกันว่า ในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการเงินในอนาคตนั้น ควรจะพิจารณาถึงการบริหารความเสี่ยงในหลาย ๆ ด้าน โดยแม้ว่ากรรมการเฟดส่วนใหญ่ยังคงมองว่าเงินเฟ้อเป็นความเสี่ยงสูง แต่ก็มีกรรมการเฟดบางคนแสดงความเห็นว่า แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะขาลงและอัตราว่างงานมีความเสี่ยงที่จะพุ่งขึ้น
ทั้งนี้ กรรมการเฟดมีความเห็นตรงกันว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยในอนาคตนั้น จะขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจในภาพรวมทั้งหมดที่เฟดจะได้รับในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า