ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อของญี่ปุ่นขึ้นสู่ระดับสูงกว่าเป้าหมาย 2% ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ในการประชุมนโยบายการเงินซึ่งจะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนนี้ ซึ่งจะทำให้ความพยายามในการเดินหน้าใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (Ultra-loose Monetary Policy) ของ BOJ เป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น
แหล่งข่าวเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ในรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อประจำไตรมาสซึ่งมีกำหนดเผยแพร่ในการประชุมวันที่ 30-31 ต.ค.นี้ คณะกรรมการ BOJ อาจจะปรับเพิ่มคาดการณ์ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (core CPI) ในปีงบประมาณ 2566 ไว้ที่ระดับเกือบ 3% จากระดับปัจจุบันที่ 2.5% ซึ่งมีการคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนก.ค.
นอกจากนี้ คาดว่า BOJ จะปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อสำหรับปีงบประมาณ 2567 ขึ้นสู่ระดับ 2% หรือสูงกว่า จากตัวเลขคาดการณ์ในปัจจุบันที่ 1.9% เนื่องจากต้นทุนราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นอาจทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคปรับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ การปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้ออาจจะนำไปสู่การทบทวนจุดยืนของ BOJ ที่ต้องการรักษานโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษไว้ เนื่องจากมองว่าการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% อย่างยั่งยืนนั้น ยังไม่ปรากฏให้เห็นในขณะนี้ นอกจากนี้ คาดว่าจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับ BOJ ในการยกเลิกการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า นักวิเคราะห์จำนวนมากคาดว่า BOJ จะยุติการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 หลังจากนายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์โยมิอูริ ชิมบุนเมื่อวันที่ 9 ก.ย.ว่า BOJ จะมีข้อมูลที่มีน้ำหนักมากเพียงพอภายในสิ้นปีนี้ในการระบุว่า จะยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบเมื่อใด